กทม.เปิดต้นทุนเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 8,000 ล้านบาท/ปี ไม่รวมสัมปทานหลัก รอ "บีทีเอส" ส่งตัวเลข ร่วมนโยบาย 20 บาทตลอดสาย เจรจาประเด็นชดเชยรายได้อาจไม่แก้สัญญาสัมปทาน ด้าน สพร.เร่ง พัฒนาระบบ Clearing House "แอปทางรัฐ" ใช้งบ 156 ล้านบาท
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2568 วันที่ 22 เมษายน 2568 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ยังไม่มีวาระการพิจารณาถึงการเข้าร่วมมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากคณะทำงานเร่งรัดการดำเนินงานในรายละเอียดนโยบายมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายที่มีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานยังไม่ได้ประชุมในรายละเอียด จึงต้องรอให้คณะทำงานชุดนี้ประชุมกันก่อน ซึ่งเดิมมีกำหนดประชุมเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 68 แต่เนื่องจากยังไม่สามารถนัดหมายประชุมกันได้จึงได้เลื่อนออกไปก่อน
ทั้งนี้ เบื้องต้นทราบว่าสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA) เตรียมพัฒนาระบบเคลียร์รายได้ระหว่างระบบรถไฟฟ้าแต่ละสายในแอปพลิเคชันทางรัฐ โดย กทม.ต้องส่งข้อมูลระบบบัตรแรบบิท (Rabbit) ที่รองรับการเดินทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีทองให้ทาง DGA นำไปเชื่อมข้อมูลในระบบ ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะส่งข้อมูลระบบ EMV (บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตทั้งไทยและต่างประเทศที่ออกภายใต้ Visa หรือ Mastercard ซึ่งมีการฝังไมโครชิป สามารถใช้ชำระเงินแบบ Contactless ได้) ซึ่งรองรับระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพู สีเหลือง รวมถึงระบบรถไฟฟ้าอื่นทั้งสายสีแดงและแอร์พอร์ตเรลลิงก์
@เปิดต้นทุนเดินสายสีเขียวต่อขบาย 8,000 ล้าน/ปี ไม่รวมสัมปทานหลักบีทีเอส
นอกจากนี้ คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมได้ให้รถไฟฟ้าทุกสายทางจัดส่งข้อมูลตัวเลขรายได้ปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบเมื่อดำเนินนโยบาย
นายวิศณุกล่าวว่า ในส่วนของต้นทุนค่าจ้างเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.จ้างเดินรถ ปัจจุบันอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็น ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ต้นทุนค่าจ้างเดินรถอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท/ปี, ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ต้นทุนค่าจ้างเดินรถวงเงิน 6,000 ล้านบาท/ปี ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บค่าโดยสารทั้งสองส่วนที่ 15 บาทตลอดสาย โดยมีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท หรือขาดทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม.ใช้รายได้ กทม.บริหารจัดการต้นทุน
สำหรับสายสีเขียว ส่วนหลัก ช่วงอ่อนนุช-หมอชิต และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีสัญญาสัมปทานกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ขณะนี้รอให้ทาง BTSC จัดส่งข้อมูลมาให้ กทม.จึงจะสรุปตัวเลขกันอีกที
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่านั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะต้องของบประมาณอุดหนุนเท่าไหร่ ทั้งนี้ ยังไม่รวมหนี้งานก่อสร้างส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนอีก 55,000 ล้านบาทด้วย
@ยังไม่ชัด แก้สัญญาสัมปทานบีทีเอส รอเจรจาชดเชยรายได้
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กรณีเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาลนั้น รฟม. จะมีการแก้สัญญาสัมปทาน ประเด็นการจัดเก็บค่าโดยสารจากอัตราตามสัญญา เป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.กำกับดูแล มี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นผู้รับสัมปทาน ยังพิจารณาเรื่องแก้สัญญาหรือไม่ เพราะกระทรวงคมนาคมระบุว่าจะชดเชยส่วนต่างรายได้ อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่มาตรการถาวร เป็นมาตรการที่อาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่ออายุปีต่อปี เหมือนที่รัฐบาลเคยมีนโยบายให้โดยสารรถไฟฟ้าฟรีช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นสูงเมื่อช่วงวันที่ 25-31 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา
@สพร.พัฒนาระบบ Clearing House "แอปทางรัฐ" วงเงิน 156 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า เนื่องจากนโยบายเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ทุกสาย ประชาชนจะได้รับสิทธิ์เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านแอปฯ ทางรัฐ ทาง สพร.จึงต้องมีการลงทุนพัฒนาระบบเพิ่มเติมได้แก่ ค่าพัฒนาระบบ Clearing House (CCH) และระบบที่เกี่ยวข้องงบประมาณ 76 ล้านบาท, ค่าพัฒนา/ปรับปรุงแอปฯ ทางรัฐเพื่อรองรับบริการ 20 บาท สพร.พัฒนาเอง,
ค่าเช่าบริการคลาวด์ (จำนวนการเดินทาง 2.18 คนเที่ยว/วัน) ระยะเวลา 12 เดือน งบประมาณ 50 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบงบประมาณ 30 ล้านบาท รวมวงเงิน 156 ล้านบาท