xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯมี.ค.ดิ่ง นักท่องเที่ยวหดหาย-จี้รัฐเร่งเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯมี.ค.68 ร่วงหนักอยู่ที่ระดับ 91.8 มาจากแผ่นดินไหว ฉุดภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลง นักท่องเที่ยวจีนหดหาย และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากสหรัฐ อัตรา 25% จี้รัฐเร่งเยียวยา-จัดทำแผนรับมือ และเปิดตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม ส่วนสหรัฐเลื่อนการเจรจาทีมไทย หากมองแง่บวก แสดงว่าไทยไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของสหรัฐฯ 

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวลดลงจาก 93.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เป็นผลมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) ส่งผลความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวและการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้ง การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ในอัตรา 25% ที่เริ่มเมื่อ 12 มีนาคม 2568 ทำให้การส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอตัวลง โดยในปี 2567 ไทยมีการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียม คิดเป็น 18.16% และ 13.29% ของการส่งออกทั้งหมด


ส่วนภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดหลักที่ลดลงโดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ลดลง44.92% และมาเลเซีย ลดลง 16.57% ลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัย และการเข้าสู่ช่วงถือศีลอด

การส่งออกรถยนต์ก็ปรับลดลง จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าเพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ยอดการส่งออกลดลง 8.34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กระทบอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ รวมไปถึงกำลังซื้อในภูมิภาคยังคงเปราะบาง จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะข้าว อ้อยและมันสำปะหลัง


ส่วนปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาทิ การผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV) ส่งผลดีต่อคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าพลังงานลงรวม 1บาท/ลิตรในกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และการจัดงานมอเตอร์โชว์ (26 มีนาคม - 6 เมษายน 2568)คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศได้


ส่วนกรณีที่สหรัฐเลื่อนพบทีมเจรจาการค้าไทยที่นำทีมโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังในวันที่ 23 เม.ย.นี้ว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น นายอภิชิต กล่าวว่า หากมองในแง่บวก แสดงว่า สหรัฐเลื่อนการเจรจากับคณะทีมของไทยแสดงว่าไทยไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของสหรัฐ ทำให้ไทยมีเวลาในการเตรียมการเจรจาเพิ่มเติม เช่น ไทยมีความต้องการเรื่องนวัตกรรม ซึ่งสหรัฐฯมีพร้อมก็หนิบยกเรื่องนี้ไปเพิ่มในการเจรจา ซึ่งปัจจัยการเมืองที่มีกระแสการปรับครม. เชื่อว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯบ้าง


ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 95.7 ลดลงจาก 97.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากผู้ประกอบยังคงห่วงกังวลในเรื่อง มาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ของสหรัฐฯ เริ่มวันที่ 2 เมษายน 2568 กระทบอุตสาหกรรมการส่งออกยานยนต์ รวมถึงชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ของไทย อีกทั้ง มาตรการตอบโต้ทางภาษี (Reciprocal Tariff) กับทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ


อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนอย่างมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และมีส่วนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ (เริ่มรับคำขอตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการเที่ยวคนละครึ่งและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทเฟส 3 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568


อย่างไรก็ดี ส.อ.ท.เสนอแนะต่อภาครัฐ คือ1.ให้ภาครัฐเร่งบูรณาการความร่วมมือในการจัดทำแผนรับมือเหตุแผ่นดินไหวและมีระบบการตรวจสอบความปลอดภัยในการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน

2. ให้ภาครัฐเร่งเปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพรองรับสินค้าไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าเช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา เป็นต้น รวมทั้งเร่งเจราจาความร่วมมือ FTA Thai-EU เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออก

3. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve และ New S-Curve) เช่น มาตรการทางภาษี เงินอุดหนุนในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ รวมทั้งการปรับลดค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น