xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เพิ่มมาตรการล้อมคอก ประกาศ 7 เส้นทางห้ามรถบัส 2 ชั้นวิ่งเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุรพงษ์” ถกเพิ่มมาตรการล้อมคอก หลังเกิดเหตุรถบัสพลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้ที่ "ปราจีนบุรี" ประกาศ 7 เส้นทางถนนลาดชัน ห้ามรถบัส 2 ชั้นทุกคันวิ่ง ผู้ประกอบการเปลี่ยนใช้รถบัสชั้นเดียว และต้องเข้าตรวจสภาพใหม่ สั่ง ขบ.บังคับติด CCTV ภายในห้องโดยสารและหน้ารถบันทึกพฤติกรรมคนขับตลอดเส้นทาง

วันที่ 21 เมษายน 2568 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามกรณีอุบัติเหตุรถบัสโดยสารพลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้ บริเวณถนนหลวงหมายเลข 304 สี่แยกกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว กม.208+600 ม ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเวลา 01.17 น.ของวันที่ 21 เมษายน 2568 โดยได้เร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะซ้ำอีก โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้แทนกรมทางหลวง และหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า จากกรณีรถโดยสารประจำทาง 2 ชั้น หมายเลขทะเบียน 10-7125 อุดรธานี ได้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับรถเทรลเลอร์ 18 ล้อ พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้ บริเวณ ทล.304 กม.ที่ 208+600 ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเหตุให้มีทรัพย์สินเสียหาย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ โดย ขบ.รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบรวมถึงประสานกับพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามผลคดีอย่างใกล้ชิด และจะเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจงข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกจะพิจารณาลงโทษต่อไป


@เพิ่มมาตรการ ห้ามรถบัส 2 ชั้นวิ่ง 7 เส้นทางถนนลาดชัน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า จากที่เหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสาร 2 ชั้น บริเวณจุดเดิม ที่ทางหลวงหมายเลข 304 ดังนั้น จึง ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติม 4 ประเด็น คือ

1. ให้ ขบ.พิจารณากำหนดเงื่อนไขการเดินรถเป็นกรณีพิเศษ โดยห้ามรถโดยสารสาธารณะประเภทรถโดยสารสองชั้นทุกชนิด ทั้งรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทาง เดินรถในเส้นทางที่มีความลาดชัน จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ทางหลวงหมายเลข 118 ช่วงเชียงใหม่-ดอยนางแก้ว 2. ทางหลวงหมายเลข 103 ช่วงแม่ฮ่องสอน-แม่ตีบ 3. ทางหลวงหมายเลข 1256 ช่วงปัว-อุทยานแห่งชาติดอยภูคา 4. ทางหลวงหมายเลข 2013 ช่วงบ่อโพธิ์-โคกงาม 5. ทางหลวงหมายเลข 2331 ช่วงโจ๊ะโหวะ-อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 6. ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงสี่แยกกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว และ 7. ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาพับผ้า-พัทลุง

โดยให้ผู้ประกอบการขนส่งดำเนินการจัดรถโดยสารประเภทรถโดยสารชั้นเดียวเข้าทำการเดินรถแทนในเส้นทางดังกล่าว กรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเปลี่ยนรถตามที่กำหนดได้ ให้ ขบ.หารือกับผู้ประกอบการในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถเป็นเส้นทางอื่นที่มีความปลอดภัยและไม่ผ่านจุดเสี่ยงตามที่กำหนด

2. ให้ ขบ.ดำเนินการเรียกรถโดยสารสาธารณะทุกคันที่มีเส้นทางการเดินรถผ่านจุดเสี่ยงทั้ง 7 เส้นทาง เข้าตรวจสภาพทางเทคนิคโดยละเอียดใหม่ทั้งหมด โดยเน้นการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบห้ามล้อ (Breaking System) ให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมยานยนต์และเกณฑ์ความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด หากพบว่ารถคันใดมีสภาพอุปกรณ์ไม่ครบถ้วนหรือบกพร่อง ให้สั่งระงับการใช้รถดังกล่าวจนกว่าจะได้รับการแก้ไขให้มีความปลอดภัยและผ่านการตรวจสอบจากพนักงานตรวจสภาพรถที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย


3. ให้ ขบ.มีคำสั่งพนักงานตรวจการขนส่งดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับรถที่ฝ่าฝืนไม่นำรถเข้าจุดตรวจ (Checking Point) ตามที่กำหนด โดยใช้อัตราโทษสูงสุด นอกจากนี้ ให้มีการจัดทำรายงานการเดินทางของรถโดยสารสาธารณะที่ผ่านจุดเสี่ยงทั้ง 7 เส้นทาง เพื่อเป็นการควบคุมกำกับและป้องปรามการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการขนส่ง

4. ให้ ขบ.พิจารณากำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะเพิ่มเติม โดยให้มีการบังคับติดตั้งระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้ขับรถ (Driver Identification System) ที่สามารถตรวจสอบและยืนยันตัวตนผู้ขับรถก่อนการใช้งานยานพาหนะได้ และให้ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ภายในห้องโดยสารและบริเวณหน้ารถเพื่อบันทึกพฤติกรรมการขับรถและสภาพการเดินรถตลอดเส้นทาง โดยข้อมูลการบันทึกต้องสามารถเรียกดูย้อนหลังได้ และสามารถส่งข้อมูลมายังศูนย์บริหารจัดการเดินรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบกได้ตามที่ร้องขอ

“วันนี้ต้องพูดคุยกับผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ต้องเด็ดขาด เพื่อรักษาชีวิตประชาชน ไม่ให้เกิดการสูญเสียอีกต่อไป” นายสุรพงษ์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น