xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นภาษี "ทรัมป์" ทำตลาดน้ำมันโลกป่วน “ไทยออยล์” ลุ้นค่าการกลั่นลดระยะสั้น บางจากฯ เน้นคุมสินค้าคงคลัง-จับตาทิศทางธุรกิจเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นตัวเร่งสงครามการค้านับวันทวีความรุนแรง เกิดกระแสตอบโต้จากหลายประเทศโดยเฉพาะจีน สหภาพยุโรป ฯลฯ ไม่รวมความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนแล้วแต่กดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง กระทบต่อความต้องการใช้และราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ราคาน้ำมันในปีนี้จะมีความผันผวนสูง

ภาคเอกชนติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับภาครัฐตั้งทีมเจรจาสหรัฐฯ เพื่อแก้เกมหวังลดผลกระทบจากการประกาศการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและการนำเข้าพลังงาน LNG จากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น งานนี้เป็นการพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลยุคแพทองธาร ชินวัตร ที่มีทั้งพ่อและน้าเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนว่าจะทำได้สำเร็จดังที่คุยไว้หรือไม่

เพื่อรับมือแนวโน้มราคาน้ำมันที่ผันผวน และปัญหาการฟ้องร้องของผู้รับเหมาหลักในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ทำให้บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ต้องทำงานอย่างรอบคอบรัดกุมเพื่อให้การก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) แล้วเสร็จและผลิตเชิงพาณิชย์ตามกำหนด (COD) ครั้งใหม่ภายในไตรมาส 3/2571 ทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวันเพิ่มเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ไทยออยล์ขึ้นแท่นโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการผลิตสูงสุดของไทยอีกครั้ง หลังจากโดนบางจากฯ แซงหน้าไปภายหลังจากบางจากฯ เข้าซื้อกิจการ “เอสโซ่” เมื่อปีที่ผ่านมา

ส่วนเหตุผลที่ไม่ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บมจ.บางจาก ศรีราชา (BSRC) ตั้งแต่ทำดีลซื้อหุ้นเอสโซ่เมื่อปี 2566 เนื่องจากบริษัท ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. ผู้ถือหุ้นเอสโซ่สัดส่วนร้อยละ 65.99 ไม่ต้องการให้มีเงื่อนไขใดๆ อันจะกระทบต่อดีลการซื้อขายหุ้นเอสโซ่ฯ ทางบางจากฯ จึงต้องปิดดีลการซื้อหุ้นกับบริษัท ExxonMobil ก่อน หลังจากนั้นยังต้องรออีก 1 ปีจึงจะทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ใหม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ


นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า ในปี 2568 บริษัทคาดราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับลดจากปีก่อน เนื่องจากมีซัปพลายน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่ม OPEC และนอกกลุ่ม OPEC ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าซัปพลายที่เพิ่ม ยิ่งนโยบายขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีผลให้ดีมานด์น้ำมันเติบโตช้าลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มโอเปกได้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้มีผลให้ราคาน้ำมันส่อปรับตัวลงในช่วงระยะสั้น ซึ่งจะกระทบต่อกำไรและขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันของบริษัทได้ แต่ก็มีโอกาสที่ซัปพลายน้ำมันดิบจะตึงตัวในอนาคตจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีต่อรัสเซีย อิหร่าน และเวเนซุเอลา

ความต้องการใช้น้ำมันที่เติบโตช้าลงยังส่งผลกระทบทำให้ค่าการกลั่นน้ำมันลดลงในครึ่งปีแรก จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบโดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและดีเซล แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวดีขึ้น ถ้าผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ด้านความต้องการใช้น้ำมันอากาศยาน (JET) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตภาคการท่องเที่ยว ซึ่งไทยออยล์ครองส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 50%

ส่วนราคาหุ้น TOP ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือลดลงไป 57% มาอยู่ที่ 24.60 บาทต่อหุ้น (วันที่ 18 เม.ย. 2568) แล้วก็ตาม แต่บริษัทฯ ก็ไม่มีนโยบายซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เนื่องจากไทยออยล์ยังมีแผนใช้เงินเพื่อลงทุนโครงการพลังงานสะอาด โดยนำสภาพคล่องส่วนเกินและการกู้ยืมจากสถาบันการเงินไปใช้ลงทุนในโครงการดังกล่าว แม้ว่ากำหนดผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) จะล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมกว่า 3 ปี อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ผู้รับเหมาหลัก UJV - Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (“Samsung”), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (“Petrofac”) และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (“Saipem”) ไม่ชำระเงินค่าจ้างให้ผู้รับเหมาช่วง ทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้า ดังนั้นไทยออยล์จำเป็นต้องใส่เงินลงทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จและผลิตเชิงพาณิชย์ในครึ่งหลังปี 2571 ซึ่งบริษัทประเมินแล้วยังคุ้มค่าต่อการลงทุนอยู่


ดังนั้นที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นฯ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2568 ได้อนุมัติเงินลงทุนเพิ่มเติมในโครงการพลังงานสะอาด จำนวน 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งสิ้น 8.1 หมื่นล้านบาท หรือราว 2,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท และดอกเบี้ยรวม 3.7 หมื่นล้านบาท

การเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP ไทยออยล์ไม่มีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยแหล่งเงินทุนมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรกมาจากเงินสดคงเหลือและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท ประมาณ 1,200-1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่ 2 จะเป็นการหาแหล่งเงินทุนจากการออกหุ้นกู้ การกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ การพิจารณาหาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น การออกตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด คาดว่าจะได้เงินประมาณ 1,000-1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังได้มีการบังคับหลักประกันตามสัญญา EPC Contract เป็นจำนวนเงิน 12,339 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อต้นปี 2568 โดยจำนวนเงินดังกล่าวนำไปลดต้นทุนส่วนเพิ่มและภาระทางการเงิน คิดเป็น 15% ของเงินลงทุนส่วนเพิ่ม ส่งผลให้โครงการมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ดีขึ้น ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ไทยออยล์ได้ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องคือ บริษัท Samsung และ Saipem ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาหลักในโครงการ CFP กับบริษัทในเรื่องสัญญา EPC ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ หลังจากผู้ร้องได้ยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับใช้สิทธิของบริษัทฯ ในการบังคับหลักประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้าเป็นจำนวนเงินประมาณ 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยออยล์ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข EPC อย่างเคร่งครัด โดยคดีนี้ยังไม่มีข้อยุติ

ปัจจุบันไทยออยล์ได้จ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกันประเมินการก่อสร้างโครงการ CFP ส่วนที่เหลือทั้งระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมถึงหากมีความจำเป็นในการจัดหาผู้รับเหมาหลักรายใหม่ และผู้รับเหมาช่วง จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเป็นไปตามสัญญา โดยที่ปรึกษาอิสระร่วมกันกลั่นกรอง ให้เกิดความมั่นใจว่ากระบวนการคัดเลือก ข้อกำหนดต่างๆ มีความเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าจะเดินหน้าโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามกำหนดตามแผนงาน


ด้านบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ที่ขยับขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่สุดในไทย ด้วยกำลังการผลิตรวมเกือบ 300,000 บาร์เรลต่อวันจาก 2 โรงกลั่นที่ตั้งอยู่พระโขนง กรุงเทพฯ และศรีราชา จังหวัดชลบุรี หลังจากบางจากฯ ปิดดีลซื้อหุ้น “เอสโซ่” เมื่อปลายปี 2566

ล่าสุดบางจากฯ เดินหน้าปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการบริษัท โดยจะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บมจ.บางจาก ศรีราชา (BSRC) ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายอื่น ไม่เกินจำนวน 631,859,702 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BSRC) โดยแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ  (Share Swap) ด้วยอัตราการแลกเปลี่ยน 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ ต่อ 6.50 หุ้นสามัญของ BSRC ซึ่งจะไม่มีการชำระค่าตอบแทนในรูปแบบของตัวเงิน คาดว่าจะดำเนินได้ในช่วง ต.ค. 2568 หลังจากนั้นบางจากฯ จะดำเนินการเพิกถอน BSRC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสิ้นปี 2568

การทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ BSRC ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ทำให้บางจากสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ขณะเดียวกันการสวอปหุ้นครั้งนี้ทำให้กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง ที่ถือหุ้นในบางจากฯ 19.84% จะถือหุ้นเพิ่มอีกราว 2% รวมเป็น 21%


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า ปี 2568 ราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวนจากนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ กดดันเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงจากปี 2567 เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันผันผวน บางจากฯ เน้นการบริหารสินค้าคงคลัง โดยลดปริมาณสินค้าคงคลังให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงการทำประกันความเสี่ยงน้ำมัน (เฮดจิ้ง) ด้วย

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนเมษายนนี้มีความผันผวนอย่างต่อเนื่องจากความกังวลในนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2568 ลดลง 1.12 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 59.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนต์ลดลง 1.39 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 62.82 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับราคาต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่วนน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 65.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2568 ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น เนื่องจากตลาดคลายความกังวลมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ หลังจากก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ประกาศระงับการใช้มาตรการภาษีตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอยู่ที่ 62.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลลาร์สหรัฐ น้ำมันดิบเบรนต์ 65.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.18 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนน้ำมันดิบดูไบ 66.69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.10 ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงราคาน้ำมันผันผวนยิ่งต้องรัดเข็มขัด การปรับโครงสร้างองค์กรให้เกิดความคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการสร้าง Synergy ในกลุ่มบริษัท ซึ่งการปรับโครงสร้างการถือหุ้นครั้งนี้จะยิ่งช่วยให้กลุ่มบางจากมีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น


ส่วนแผนนโยบายการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) บางจากฯ ไม่มีแผนการซื้อหุ้นคืนในช่วงนี้ แต่ต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ยามที่จำเป็น หากสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ค่อยพิจารณาใหม่ได้ โดยราคาหุ้น BCP ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาก็ยืนในแดนเขียว และ Outperform 30-40%

ทำให้บริษัทอัลฟ่า ชาร์เตอร์ด เอนเนอร์จี จำกัด ทยอยซื้อหุ้นบางจากในช่วงไม่กี่เดือนนี้ และได้ซื้อหุ้นบิ๊กล็อต จากบริษัท Capital Asia Investments Pte Ltd หรือ CAI จากสิงคโปร์ จำนวน 84,454,585 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 6.1335% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ส่งผลให้อัลฟ่าฯ ถือครองหุ้น BCP รวมทั้งสิ้น 275,500,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.0083% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 ในบางจากฯ และล่าสุดทางอัลฟ่าฯ ได้ส่งตัวแทนเข้านั่งในบอร์ดบางจากฯ แล้ว 2 ราย คือ Dr. Tomas Koch และนายณัฐกร อธิธนาวานิช มีผลในวันที่ 18 เม.ย. 2568

อัลฟ่าฯ ได้ส่งสัญญาณต้องการกำหนดทิศทางธุรกิจบางจากใหม่ที่ไม่เป็นแค่ธุรกิจพลังงาน แต่มุ่งไปสู่ธุรกิจใหม่ทั้งแบตเตอรี่, ดาตา เซ็นเตอร์ & เอไอ และพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น ซึ่งจะสร้างการเติบโตในอนาคต

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตา! บางจากฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ยังสามารถเป็นมือเป็นไม้ให้กับภาครัฐในการดูแลราคาพลังงานต่อไปได้หรือไม่ ขณะที่กระทรวงการคลังก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะ Take action ในเรื่องนี้อย่างไร ไม่ว่าจะลดบทบาท ยอมปล่อยให้อัลฟ่าฯ เข้ามากำหนดทิศทางบางจากฯ แทน โดยคลังอาจจะเห็นว่ามี ปตท.อยู่แล้วก็เพียงพอ ซึ่งอยากให้คลังพิจารณาอย่างรอบคอบ บทเรียนในอดีตก็มีให้เห็น เชื่อว่าภายใน 2-3 เดือนข้างหน้าน่าจะเห็นทิศทางบางจากฯ ในอนาคตชัดเจนขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น