รฟท.เซ็นสัญญาจ้าง กิจการค้าร่วม อาร์ยูทีเอส (บมจ.สกาย ไอซีที -ร็อคเทค โกลบอล- ยูไนเต็ด เทเลคอมฯ) ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมทั่วประเทศ วงเงิน 1.48 พันล้านบาท เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเดินรถและความปลอดภัย กรอบเวลาดำเนินงาน 560 วัน
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า วันนี้ (21 เมษายน 2568) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ รฟท. ได้ลงนามสัญญาโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม กับกิจการค้าร่วม อาร์ยูทีเอส ประกอบด้วย ผู้แทนจาก บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) บริษัท ร็อคเทค โกลบอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูไนเต็ด เทเลคอม เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด วงเงิน 1,487.6 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) พร้อมด้วยนายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟฯ ลงนามจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ กลุ่มบริษัท CMSR วงเงิน 46.759 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ควบคุมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารให้ครอบคลุมทุกเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ ลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงสนับสนุนระบบอาณัติสัญญาณ เครื่องกั้นถนน กล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบติดตามขบวนรถ
ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน 560 วัน นับถัดจากวันลงนามสัญญา กำหนดจ่ายเงิน จำนวน 10 งวด ทั้งนี้ กรณีผู้รับจ้างนำงานจ้างไปจ้างช่วงให้ผู้อื่นอีกทอดหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายการอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม การรถไฟฯ กำหนดค่าปรับสำหรับการฝ่าฝืนดังกล่าว 10% ของวงเงินจ้างช่วงนั้น และกรณีที่ผู้รับจ้างปฏิบัติผิดสัญญาจ้างจะมีค่าปรับเป็นรายวันในอัตรา 0.10% ของราคางาน
ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องของงานที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 730 วันนับถัดจากวันที่การรถไฟฯได้รับมอบงานโดยจะต้องจัดการซ่อมแซมแก้ไขให้ใช้การได้ดีดังเดิมภายใน 1 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งความชำรุดบกพร่อง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า สำหรับการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมในครั้งนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านการสื่อสารของการรถไฟฯ ด้วยการติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ครอบคลุมเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ ทำให้ระบบสารสนเทศของฝ่าย/สำนักงานต่างๆ ที่ใช้งานภายในการรถไฟฯ สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และยังมีการติดตั้งระบบโทรศัพท์ควบคุมการเดินรถและโทรศัพท์พื้นฐาน ทำให้การเดินรถมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคตโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงนี้ยังสามารถเปิดให้ภาคเอกชนเช่าใช้งานหรือให้บริการเพิ่มเติมได้อีกด้วย
การลงทุนครั้งนี้เป็นการปูทางสู่การใช้เทคโนโลยีสื่อสารขั้นสูงในอนาคต เช่น ระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ETCS Level 2 และระบบสื่อสารไร้สายสำหรับระบบราง (FRMCS) ซึ่งเป็นมาตรฐานการสื่อสารของเครือข่ายรถไฟทั่วโลก รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังรองรับการเติบโตของระบบขนส่งทางรางที่จะเป็นระบบการขนส่งหลักทั้งในด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า โดยเฉพาะด้านการบริการผู้โดยสารที่จะสะดวกสบายและทันสมัยยิ่งขึ้น ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มอบหมายให้การรถไฟฯ ดำเนินงานอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งระบบรางให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“พิธีลงนามในวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการรถไฟฯ ในการยกระดับระบบสื่อสารโทรคมนาคมในทุกๆ ด้านให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ใช้งานของการรถไฟฯ และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการในส่วนของการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับการรถไฟฯ ในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน”