สถาบันเหล็กฯ เตรียมตรวจสอบเหล็กตัวอย่างล็อตสองเพิ่มอีก 40 ท่อนจากตึก สตง.ถล่มในวันที่ 21 เม.ย.นี้ ชี้หากผลตรวจเหล็กต่ำกว่ามาตรฐาน มอก.จ่อลุยเอาผิด พร้อมกางผลการตรวจเหล็กเส้น สตง.รอบแรก
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงฯ โดยทีมสุดซอย ได้ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้แทนอิตาเลียนไทยฯ ได้เข้าเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติมจากบริเวณตึก สตง.ถล่ม
การเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นหลายจุดหลากหลายชนิดและขนาดจำเป็นต้องเลือกชุดตัวอย่างให้ครบ 5 เส้น/ชั้นคุณภาพ/ขนาด/ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการเรื่องการชักตัวอย่างและการตัดสิน โดยได้ตัวอย่างเหล็กเส้นเพิ่มจำนวน 8 ชนิด ชนิดละ 5 ท่อน รวมทั้งสิ้น 40 ท่อน และจะทำการตรวจสอบตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในวันที่ 21 เมษายนนี้ โดยสถาบันเหล็กฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการดำเนินการเอาผิดต่อผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป ในส่วนของการตรวจสอบหากพบเจ้าหน้าที่คนใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องได้รับโทษด้วย ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ
ทั้งนี้ ในวันที่ 21 เมษายนนี้ สถาบันเหล็กฯ จะทดสอบทุกรายการตามมาตรฐาน มอก.24-2559 ดังนี้ 1. มวลต่อเมตร 2. ช่วงระหว่างบั้ง ส่วนสูงของบั้ง และความกว้างครีบ 3. ส่วนประกอบทางเคมี 4. ความต้านแรงดึง (Tensile) 5. ความต้านแรงดึงที่จุดคราก (Yield strength) 6. ความยืด (Elongation) และ 7. ความดัดโค้ง (Bending) 8. มุมระหว่างบั้งครีบแกนของเหล็ก 9. เครื่องหมายที่เหล็กข้ออ้อย
"ผลการตรวจสอบหากผิดก็ว่าผิด ถูกก็ว่าถูก ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา ไม่ควรมีระบบสอบตกขอครูสอบใหม่ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่าน อันนั้นไม่ถูกต้อง สิ่งที่สำคัญคือความปลอดภัยของประชาชน หากผู้ผลิตมีความผิด ก็ต้องรับโทษ-ยึดใบอนุญาต-ปิดโรงงาน ตามขั้นตอน เพราะสังคมคาดหวัง และเราจะไม่ให้ที่ยืนกับโรงงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกต่อไป" นายพงศ์พลกล่าว
ส่วนการตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บตัวอย่างมาจากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 มีเหล็ก 3 ชนิดที่ตกค่ามาตรฐาน มอก.ได้แก่ 1. เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร ตกทดสอบความสูงของบั้ง (การยึดเกาะกับปูน) 2. เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร ตกทดสอบค่าเหล็กเบา (มวลต่อเมตร) 3. เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร ตกทดสอบค่าแรงดึง (การรับแรง)