”พีระพันธุ์”ชี้แจงปมโครงการประมูลไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ เพื่อพลังงานที่มั่นคงของประเทศ ระบุ 3สัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เซ็นไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ผ่านมา เป็นการทำตามเงื่อนไขที่ต้องลงนามในสัญญาภายใน 2 ปี หากพบผิดกม.สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ต้องรอ 25 ปี
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านได้ตั้งกระทู้ถามในสภาเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ไปอย่างครบถ้วนแล้ว
โดยโครงการประมูลดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2565 ในรัฐบาลที่ผ่านมา ในรอบแรกมีการประมูลขนาด 5,200 เมกะวัตต์ ซึ่งหลังจากการประมูลเสร็จสิ้น ผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ แต่ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยยกฟ้องทุกกรณีแล้ว จึงไม่มีข้อกฎหมายใดเป็นอุปสรรคต่อการลงนามในสัญญาอีกต่อไป ดังนั้นการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจึงเริ่มทยอยดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องโดยยังมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ.ต้องลงนามในสัญญาภายใน 2 ปี เป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ครบกำหนดในวันที่ 18 เมษายน 2568 ส่วนพลังงานลมครบกำหนดภายในปี 2569
สำหรับการซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกกะวัตต์ในเฟสแรกนั้น มีการประมูลที่ 4,852 เมกกะวัตต์ มีสัญญาทั้งสิ้น 175 ฉบับ มีโครงการที่ กฟผ.เกี่ยวข้อง 83 โครงการ และเซ็นสัญญาแล้ว 67 โครงการ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 และทางกฤษฎีกาได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากมีการเซ็นลงนามสัญญาไปแล้วหากยกเลิกหรือชะลอการเซ็นลงนามสัญญาส่วนที่เหลืออาจจะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย
ในส่วนของ 16 โครงการที่ยังไม่ได้ลงนามนั้น หากจะหยุดกระบวนการทันที จะทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนที่มีการดำเนินการล่วงหน้าแล้ว ซึ่งกฤษฎีกาได้แนะนำให้ กฟผ. ใส่เงื่อนไขในสัญญาเพิ่มเติมว่า หากภายหลังพบว่าการประมูลมีปัญหาทางกฎหมายหรือผิดขั้นตอนใด ๆ ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ โดยไม่ต้องรอให้ครบสัญญา 25 ปี ดังนั้น ทั้ง 3 สัญญาที่ลงนามไปเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา จึงได้มีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่ต้องลงนามในสัญญาภายใน 2 ปีและมีการปรับเงื่อนไขของสัญญาตามคำแนะนำของกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ขอให้วางใจได้
ขณะเดียวกันสัญญาที่เหลือ นายพีระพันธุ์ได้หารือกับผู้ว่าการ กฟผ.เพื่อหาช่องทางทางกฎหมายในการชะลอการลงนามเพื่อให้มีเวลาตรวจสอบประเด็นที่สังคมกังวลอย่างรอบคอบ โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่จะครบกำหนดในปี 2569 ซึ่งขณะนี้ ผู้ว่าการ กฟผ. กำลังตรวจสอบข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางดำเนินการให้สอดคล้องกับกรอบอำนาจที่มี ขอให้มั่นใจว่าการเซ็นสัญญาครั้งนี้จะไม่เป็นข้อผูกมัดไป 25 ปี เพราะสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที หากพบว่ามีการกระทำผิด
"ขอยืนยันว่า หากมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าโครงการใดผิดกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยขั้นตอน ก็สามารถดำเนินการยกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบอายุสัญญา 25 ปี รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง”