ผู้ถือหุ้น”การบินไทย“โหวตเลือกบอร์ดใหม่ 8รายรวมกับบอร์ดปัจจุบัน 3รายเป็น 11รายปลายเดือนเม.ย.นี้ยื่นต่อศาลล้มละลายคาดออกจากแผนฟื้นฟูกิจการใน 1-2เดือนนี้และยื่นนำหุ้นเทรด SETในก.ค
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่าที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบมจ.การบินไทยวันนี้ (18เม.ย.) มีมติอนุมัติกำหนดจำนวนกรรมการบริษัท 11 คนจากที่เสนอจำนวน 11-12 คน ซึ่งคณะผู้บริหารแผนเห็นว่ามีความเพียงพอและหมาะสมที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
พร้อมอนุมัติรายชื่อคณะกรรมการบริษัทโดยมาจากกรรมการปัจจุบัน 3 คนได้แก่ 1.นายปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ 2.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร 3.พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย
ส่วนกรรมการใหม่จำนวน 8คนได้แก่
1.นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง
2.นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต
3.นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม
4.พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ
5.นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม ประธานกรรมการคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกรรมการอิสระ
6.นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุดกรรมการอิสระ
7.นายสัมฤทธิ์ สำเนียง อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงินและการบัญชีบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม [PTTEP]กรรมการอิสระ
8.นายชาย เอี่ยมศิริ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปัจจุบัน)
ส่วนนายชาติชาย โรจนรัตนางกูร ตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ได้รับคะแนนเสียงโหวตน้อยที่สุดจึงไม่ได้รับเลือกเป็นกรรมการ
พร้อมกันนี้ที่ประชุมอนุมัติให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท 2 รายได้แก่ นายปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จากเดิมเสนอจำนวนกรรมการ 5 ราย
นายชายกล่าวว่า เราให้ความสำคัญสูงสุดกับการยกระดับคุณภาพการบริการในทุกจุดสัมผัสของลูกค้ารวมถึงการนำเสนอบริการใหม่ๆอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การบินไทยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับโลกและพร้อมปรับตัวให้ทันกับทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือพฤติกรรมของผู้โดยสารโดยเรามีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการจัดหาฝูงบินใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตในการสร้างการเติบโตและความสามารถในการจ่ายหนี้ตามกำหนดในแผนฟื้นฟูฯและดำเนินการแบบสายการบินเครือข่าย(Network Airline)เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ในเส้นทางภูมิภาค(Regional Route)มากขึ้นพร้อมเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจอื่นๆทั้งการขนส่งสินค้าครัวการบินและการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)
“เมื่อการบินไทยได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามที่ได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการบริษัทในครั้งนี้เรียบร้อยแล้วจะถือว่าการบินไทยได้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการดำเนินการตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯได้ครบถ้วนพร้อมเดินหน้ายกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้น ‘THAI’กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ตามแผนที่วางไว้ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการฟื้นคืนสถานะทางการเงินเท่านั้นหากยังเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ขององค์กรที่แข็งแกร่งและพร้อมแข่งขันในระดับสากลโดยที่เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนายกระดับขีดความสามารถการดำเนินงานในทุกมิติดำเนินงานอย่างโปร่งใสภายใต้หลักธรรมาภิบาลเพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน”นายชายกล่าว
ปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยกล่าวว่าเราได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯอย่างเคร่งครัดทั้งการมีวินัยในการชำระหนี้โดยไม่ผิดกำหนดนัดชำระมุ่งมั่นสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเพื่อให้ EBITDAหลังหักค่าเช่าเครื่องบินตามงบเฉพาะกิจการมากกว่า 20,000 ล้านบาทตามเงื่อนไขตามแผนฟื้นฟูฯโดยในปี 2567ที่ผ่านมาบริษัทฯมี EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินอยู่ที่ 41,473 ล้านบาทตลอดจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกโดยการปรับโครงสร้างทุนผ่านการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการณสิ้นปี 2567 เป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาทซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าบรรลุทุกเงื่อนไขที่กำหนดในการยื่นคำร้องขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
การที่ปรับผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทเหลือ 2 รายเนื่องจากนายลวณและนางสาวกุลยาติดเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเป็นกรรมการของธนาคารกรุงไทย (KTB) แล้วส่วนนายชาครีย์ เป็นข้าราชการกระทรวงคมนาคมไม่ต้องการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพัน
หลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทการบินไทยได้ลงมติการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แล้วจะขอศาลล้มละลายยื่นจดกรรมการชุดใหม่ต่อกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้การบินไทยได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการออกจากแผนฟื้นฟูครบแล้วได้แก่ มีกำไร EBITDAในรอบ 12เดือนเกิน 2หมื่นล้านบาทและส่วนของผู้ถือหุ้นป็นบวกบริษัทไม่มีการผิดนัดชำระและแต่งตั้งกรรมการบริษัท
โดยคาดว่าในปลายเดือนเม.ย.นี้จะยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและคาดว่าศาลฯจะให้ความเห็นชอบออกจากแผนฟื้นฟูได้อาจจะ 1-2เดือนบริษัทจึงจะเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทได้และหลังศาลฯให้ออกจากแผนฟื้นฟูแล้วจะยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำหุ้น THAIกลับเข้าไปทำการซื้อขายได้ภายในเดือนกรกฎาคมของปีนี้
สำหรับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยคือกระทรวงการคลังรวมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจถือสัดส่วน 42.99%ธนาคารกรุงเทพ 8.51%สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำกัด 5.43%ธนาคารกรุงไทย 4.69%เจ้าหนี้อื่นๆจากการแปลงหนี้เป็นทุน 33.09%