xs
xsm
sm
md
lg

“แอร์บัส”ประเมินศักยภาพไทยผลิตน้ำมัน SAF ได้กว่า 5 ล้านตันต่อปี ด้าน CAAT คาดปีนี้เริ่มนำร่องใช้ 1 % แอร์ไลน์บินไปยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แอร์บัส”ประเมินไทย มีศักยภาพผลิตน้ำมัน SAF ได้มากกว่า 5 ล้านตันต่อปี ชี้มีภาคการเกษตรที่แข็งแกร่ง มีวัตถุดิบหลากหลาย ทั้งกากน้ำตาล เศษวัสดุเกษตร มูลสัตว์ นำมาเพิ่มมูลค่าแทนการเผา ลดมลพิษ ด้าน CAAT จ่อบังคับใช้ SAF เริ่มที่ 1% กับสายการบินเส้นทางยุโรปในปี 68

วันที่ 11 เมษายน 2568 คุณจูลี่ คิทเชอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน บริษัท แอร์บัส จำกัด กล่าวในงาน Airbus Industry Outreach เกี่ยวกับเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในประเทศไทยว่า แอร์บัส มีศูนย์บริการปฏิบัติการการบินและศูนย์บำรุงรักษาเฮลิคอปเตอร์ในประเทศไทย และมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งในประเทศไทยต่อไป รวมถึงการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ในด้านความยั่งยืน ซึ่งอุตสาหกรรมการบิน สร้างงานและความเจริญรุ่งเรือง และขับเคลื่อน 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าทั่วโลก สนับสนุนการจ้างงานกว่า 86.5 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยเมื่อปี 2567 มีผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกมากถึง 5 พันล้านคน

เฉพาะในประเทศไทย อุตสาหกรรมการบินมีการจ้างงานถึงประมาณ 133,500 คน และก่อนช่วงโควิด อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนมากกว่า 7% ของ GDP ประเทศ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย มากกว่า 80% เดินทางมาโดยทางอากาศ ซึ่งแนวทางสู่การลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างยั่งยืน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งใน ปี2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก

อุตสาหกรรมการบินถูกมองว่าเป็น “อุตสาหกรรมที่ยากต่อการลดการปล่อยคาร์บอน”จึงมีการกำหนดเป้าหมาย ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งประเทศไทยยังเป็นภาคีของโครงการชดเชยและการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภาคการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) อีกด้วย โดยจะมีทั้งการใช้เครื่องบินที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง การปรับปรุงการจัดการการจราจรทางอากาศและการดำเนินงาน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels หรือ “SAF”

เชื้อเพลิง SAF ผลิตจากของที่ทิ้งแล้ว เช่น น้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว และเศษชีวมวลต่าง ๆ เช่น เศษซากจากพืชผลทางการเกษตร ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร เชื้อเพลิง SAF สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้โดยเฉลี่ย 80% ตลอดวงจรชีวิตของเชื้อเพลิง นับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการใช้งาน ปัจจุบัน SAF สามารถใช้ขับเคลื่อนเครื่องบินแอร์บัสได้โดยผสมกับน้ำมันก๊าดในสัดส่วน 50%

ขณะที่ปัจจุบันมีการใช้ SAF ในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของเชื้อเพลิงการบินที่ใช้ทั่วโลก หากต้องการ Net-Zero ในปี 2593 จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนให้ได้อย่างน้อย 6% ภายในปี พ.ศ. 2573 และสูงถึง 20% ภายในปี พ.ศ. 2578 แต่ปัญหาอยู่ที่ ความต้องการยังมีจำกัด เนื่องจากราคาที่สูง เป็นความท้าทายด้านอุปสงค์และอุปทาน และเห็นว่า ความชัดเจนในระดับนโยบายจะช่วยให้นักลงทุนมองเห็นทิศทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ SAF ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


สำหรับประเทศไทย ภาคเกษตรกรรมมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพอย่างยิ่งในการเป็นผู้ผลิต SAF เพราะมีวัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล เศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว แกลบ ซังและใบข้าวโพด ตลอดจนมูลสัตว์ และมี การพัฒนาเพื่อผลิต SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว เช่น โครงการของ บางจาก และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล เริ่มต้นการผลิต SAF โดยกระบวนการกลั่นร่วม

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต SAF ได้มากกว่า 5 ล้านตันต่อปีเทียบเท่ากับปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเครื่องบินทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2562 และการพัฒนาอุตสาหกรรม SAF จะสร้างประโยชน์ที่หลากหลายให้กับประเทศไทย ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท เนื่องจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในฐานะวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF มีการเก็บรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแทนที่จะเผาทำลาย ช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศได้ และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเปิดโอกาสในตลาดการส่งออก

 พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.
@กพท.ศึกษาแนวทาง เตรียมประกาศใช้ SAF เริ่มต้น 1% แอร์ไลน์บินเข้ายุโรป

พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.กล่าวว่า ปัจจุบัน กพท.อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) สำหรับประเทศไทย โดยมีการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็น โดยคาดว่าภายในไตรมาสสุดท้ายปี 2568 จะออกประกาศ กพท.บังคับใช้ SAF ที่สัดส่วน 1% สำหรับสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มที่เส้นทางยุโรปก่อน โดยประเมินต้นทุนของสายการบินจะไม่เพิ่มขึ้นเท่าไร

“เรื่องนี้ต้องรอบคอบเนื่องจาก ราคา SAF นั้นสูงกว่าน้ำมันเครื่องบินไอพ่นพาณิชย์ JET A-1 ประมาณ 3 เท่า การออกกฎบังคับให้สายการบินใช้ SAF อาจจะส่งกระทบต่อราคาค่าโดยสารขณะที่ทางอียู มีเป้าหมายที่จะใช้และจะเก็บภาษีคาร์บอนกับสายการบินที่ไม่ใช้ SAF ดังนั้นจะต้องหาแนวทางที่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารน้อยที่สุด เพราะหากมีการใช้ SAF แล้วสายการบินไม่ถูกเก็บภาษีคาร์บอน ก็จะไม่ส่งผลต่อต้นทุนและกระทบต่อราคาค่าโดยสาร จึงต้องศึกษาและรับฟังข้อมูลให้รอบด้านที่สุด เพราะหากออกประกาศไปแล้วก็ไม่อยากมีปัญหาแล้วต้องย้อนกลับไปมา และอยากให้เกิดประโยชน์ทั้งสายการบิน ผู้โดยสาร และประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น