CAAT เพิ่มการตรวจสอบความปลอดภัยของอากาศยานและการปฏิบัติการบินช่วงสงกรานต์ พร้อมลงพื้นที่ตรวจราคาตั๋วเส้นทางยอดนิยม ช่วงสงกรานต์ไม่พบเกินเพดาน เผย 6 สายการบิน เพิ่ม 124 เที่ยวบินรองรับ ย้ำดูแลสิทธิผู้โดยสารหากเที่ยวบินล่าช้าหรือยกเลิก
พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.ระบุว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเพิ่มเที่ยวบินภายในประเทศกว่า 100 เที่ยวบิน เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบอากาศยานและการปฏิบัติการบิน และเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ Ramp Inspection โดยตรวจสอบความพร้อมของอากาศยาน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ (นักบิน และลูกเรือ) รวมถึงการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริการภาคพื้นในเขตสนามบิน และในเขตลานจอดเครื่องบิน โดยการเพิ่มการตรวจสอบในช่วงเทศกาลจะเน้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้สายการบินเตรียมความพร้อมของผู้ปฏิบัติหน้าที่ สภาพอากาศยาน ชิ้นส่วนอะไหล่ที่สำคัญๆ รวมถึงแผนสำรองหากอากาศยานเกิดขัดข้อง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ กพท. ยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง (9-10 เมษายน 2568) โดยตรวจสอบในเส้นทางที่ผู้โดยสารนิยมเดินทาง เช่น กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ และกลับ, กรุงเทพฯ – ขอนแก่น และกลับ, กรุงเทพฯ – ภูเก็ต และกลับ, กรุงเทพฯ – กระบี่ และกลับ เป็นต้น โดยตรวจสอบว่าแต่ละสายการบินได้แสดงราคาค่าโดยสารในทุกเส้นทางภายในประเทศ ณ สถานที่จำหน่ายบัตรโดยสารอย่างเปิดเผย และจำหน่ายบัตรโดยสารไม่เกินเพดานที่ กพท. กำหนดหรือไม่ (เฉพาะราคาบัตรโดยสาร ไม่รวมค่าบริการอื่นๆ) ซึ่งจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการจำหน่ายบัตรโดยสารเกินเพดานราคา
ทั้งนี้ หลังจากที่มีมาตรการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษในช่วงสงกรานต์จำนวน 124 เที่ยวบิน โดยได้รับความร่วมมือจาก 6 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ และไทยเวียตเจ็ท พบว่า มาตรการดังกล่าวช่วยตอบสนองความต้องการและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารได้มากขึ้น
ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ได้กำชับผู้ให้บริการทั้งสนามบินและสายการบินให้รักษามาตรฐานการให้บริการทั้งเรื่องความตรงต่อเวลาและระดับคุณภาพการให้บริการ ในช่วงเทศกาลที่มีปริมาณการเดินทางสูง รวมทั้งเน้นย้ำให้สายการบินบริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาเที่ยวบินล่าช้าหรือยกเลิก หากเกิดกรณีเที่ยวบินล่าช้าหรือยกเลิกเที่ยวบิน สายการบินต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบทันที และต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 อย่างเคร่งครัด และขอให้สายการบินจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจประจำ ณ จุดที่ให้บริการสายการบินตลอดระยะเวลาที่มีเที่ยวบินให้บริการ รวมทั้งมีช่องทางการติดต่อและรับข้อร้องเรียนของผู้โดยสารที่มีประสิทธิภาพ และหากผู้โดยสารไม่ได้รับการดูแลชดเชยตามสิทธิดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ complaint.caat.or.th
อย่างไรก็ตาม ในทุกการเดินทาง ผู้โดยสารควรศึกษาเงื่อนไขการเดินทางและสิทธิประโยชน์จากเว็บไซต์ของสายการบินที่จะเดินทาง เพื่อให้รับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และเก็บหลักฐานการเดินทาง เช่น บัตรโดยสาร ใบเสร็จค่าอาหารหรือที่พัก ไว้เพื่อใช้เรียกร้องสิทธิหากจำเป็น การเตรียมพร้อมและทราบถึงสิทธิของตนเองจะช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่นแม้ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด