ศาลปกครองกลางสั่งบังคับคดีให้รฟท.จ่ายค่างานเพิ่ม (VO) รถไฟสายสีแดง สัญญาก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 60 วัน”ผู้ว่าฯรฟท.”เร่งหารือคมนาคม คาดต้องชงครม.ขยายวงเงินโครงการ
รายงานแจ้งว่า วันที่ 10 เมษายน 2568 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1125/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 7084/2568 ระหว่าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องที่ 1 บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องที่ 2 กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565
ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยว่า ก่อนที่ผู้ร้องทั้งสองจะยื่นคำร้องต่อศาลเป็นคดีนี้ ผู้คัดค้าน (รฟท.) ได้ยื่น คำร้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 309/2566 ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการที่พิพาทในคดีนี้ โดยอ้างว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 423/2567 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2567 ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นคำชี้ขาตตามหลักเกณฑ์และไม่เกินขอบเขตแห่งสัญญาและการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในเงื่อนไขให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อนุญาโตตุลาการ 2545 พิพากษายกคำร้อง
ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว ผู้คัดค้านยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ผู้ร้องทั้งสองจึงยื่นคำร้องต่อศาลเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนฝ่ายผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 309/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 423/2567และศาลปกครองกลางมีคำสั่งลงวันที่ 21 มิ.ย. 2567 ไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณา ผู้คัดค้านจึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับ คำอุทธรณ์ไว้พิจารณาต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567
ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ที่ 1076/2567 ลงวันที่ 2 ต.ค. 2567 ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น คดีจึงเป็นอันถึงที่สุดและผูกพัน คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565 จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่เกินขอบเขตของสัญญาและการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 43 (4) และมาตรา 44 แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ 2545
อีกทั้งคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่อยู่ในเงื่อนไขให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังที่ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยในคดีหมายเลขดำที่ 309/2566 คดีหมายเลขแดง ที่ 423/2567ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว และไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคำชี้ขาดดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและมีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสอง และผู้คัดค้าน (รฟท.) ศาลจึงบังคับใหผู้คัดค้าน (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้พิพากษาให้บังคับ ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาท หมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565
ทั้งนี้ ให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ วันที่คดีถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2565 โดยให้ รฟท.ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้า เอส ยู ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัญญา 1 งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งรฟท. ลงนามสัญญา กิจการร่วมค้า เอส ยู เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2556 ในวงเงินสัญญา 29,826,973,512 บาท ตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน เพิ่มเติม (Variation order - VO) จำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท
@หาทางเจรจาเอกชน ลดดอกเบี้ย
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.กล่าวว่า ต้องดูว่าศาลสั่งอย่างไรบ้าง ซึ่งรฟท.ต้องดำเนินการตาม ส่วนประเด็นที่จะยื่นอุทธรณ์ทางฝ่ายอนาบาลของ รฟท. น่าจะยื่นไปหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อปลายปี 2567 บอร์ดรฟท.เคยมีการหารือแนวทางการจ่ายเงินกับเอกชนหรือไม่ นายจิรุตม์กล่าวว่า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง มีการรายงานให้ที่ประชุมบอร์ดทราบไปแล้ว หลังจากนี้ทางผู้ว่าฯรฟท.คงนำเรื่องหารือกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายค่างานตามคำสั่งศาล ส่วนการหาเงินมาจ่ายก็คงต้องไปคุยกับทั้งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสำนักงบประมาณ รวมถึงจะต้องพยายามเจรจากับเอกชนที่ฟ้องร้องด้วยว่าจะขอลดอัตราดอกเบี้ยลดลงได้หรือไม่ต่อไป
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า หลังมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อปลายปี 2567 รฟท.ได้หารือกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และรฟท.ได้ชี้แจงข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไปแล้ว กรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ รฟท.จะเร่งหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในการขยายกรอบวงเงินโครงการรถไฟสายสีแดงต่อไป