xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ผนึก DSI ลุยเก็บตัวอย่างเหล็กตึก สตง.ถล่มอีกครั้งพรุ่งนี้ “เอกนัฏ” จ่อยกเลิก มอก.เหล็กเตา IF

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก.อุตสาหกรรมผนึกดีเอสไอลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กจากซากอาคาร สตง.ถล่มเพิ่มเติมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ หลังชงกรณี “ซินเคอหยวน” เป็นคดีพิเศษ “เอกนัฏ” จ่อรื้อ มอก.เหล็กเส้นจากเตา IF ด้าน “ซินเคอหยวน” ยังไม่ปรับปรุงสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ตามหนังสือแจ้งเตือนจาก สมอ. อ้างถูกสั่งปิดโรงงานชั่วคราว

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 เม.ย.) เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดยทีมสุดซอย ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กจากซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยจะจัดเก็บเหล็กในพื้นที่ทั้ง 4 จุดทุกมุมเพื่อให้ได้ตัวอย่างเหล็กมากที่สุด ก่อนนำส่งตรวจสอบค่าทางเคมีและค่าทางกล ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าหารือและร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นระบบและตรงตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด

“เราจะเก็บตัวอย่างในส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการถล่ม เพราะต้องการเหล็กที่มีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด โดยจะส่งตรวจที่สถาบันเหล็กฯ ส่วนการใช้แล็บกลางหรือไม่นั้นเราจะไม่เปลี่ยนที่ทดสอบ”

ก่อนหน้านี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ุ รมว.อุตสาหกรรม ได้นำทีมไปเก็บตัวอย่างเหล็กในพื้นที่อาคาร สตง.ถล่มในวันที่ 30 มีนาคม 2568 เพื่อส่งทดสอบคุณภาพว่าได้ตามมาตรฐาน มอก.หรือไม่ ผลปรากฏว่ามีเหล็กเส้นข้ออ้อยตกมาตรฐาน มอก. 2 ไซส์ คือเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร มาจากบริษัทเดียวกัน คือ SKY หรือบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของจีนที่ตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นที่บ้านค่าย จังหวัดระยอง

“ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงจากซินเคอหยวนว่าได้ขายเหล็กล็อตที่มีปัญหาให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายใดไปบ้างหรือไม่ แต่กลับได้คำตอบเพียงแค่ว่าไม่ได้ขายเหล็กให้โครงการก่อสร้างตึก สตง.โดยตรงจึงไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเท่ากับกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชน เพราะประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยว่ามีเหล็กเส้นที่มีปัญหาอยู่ในอาคารอื่นๆ อีกหรือไม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมอบหมายให้ สมอ.พิจารณาต่อไปว่าในกรณีนี้ถือว่าสามารถเอาผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามมาตรา 56 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการครอบครองฝุ่นแดง 4.3 หมื่นตัน ที่ได้ทำหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากซินเคอหยวนเช่นกัน”


นอกจากนี้ ในส่วนของ มอก. 20 เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24 เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากเตาหลอมเหล็กชนิด IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอมเหล็กแบบเก่า ซึ่งมีเสียงวิจารณ์วงกว้างถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและความบริสุทธิ์ของเหล็กนั้น นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรมได้สั่งการให้ สมอ.ศึกษาแนวทางแก้ไข หรือยกเลิก มอก.เหล็กเส้นจากเตาหลอมเหล็ก IF ชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นไทยในอนาคต

ส่วนกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ.ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก.ให้กับ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยข้อเท็จจริงคือ บริษัทดังกล่าวปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด

ทั้งนี้ วานนี้ (9 เม.ย. 68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย สมอ. ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมหารือกันเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ และกำหนดหน้างานให้ชัดเจน เพื่อให้ใช้เวลาน้อยในการทำงาน ได้ตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้แบ่งหน้าที่กันและเข้าไปดูหน้างานจริงในที่เกิดเหตุ จึงได้กำหนดเรียงลำดับหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยคิวแรกเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง สมอ.มีกำหนดจะเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในที่เกิดเหตุเพิ่มเติมในวันพรุ่งนี้

หลังจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลร่วมกันเพื่อเอาผิดโรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่ง DSI รับเป็นคดีพิเศษได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม กรณีนี้นับเป็นต้นแบบของการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อสู้กับธุรกิจศูนย์เหรียญในประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการกับโรงงานดังกล่าวตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากตรวจสอบพบว่ามีการผิดกฎหมายข้อใดจะดำเนินการให้ถึงที่สุด

ปัจจุบันสถานะของ บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กเส้น ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เกิดเหตุเชื้อเพลิงไหม้ถัง LPG ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงใช้ ม.39 สั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว และสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จภายในวันที่ 20 มกราคม 2568 และยังตรวจพบว่าเหล็กเส้นข้ออ้อยตกมาตรฐาน มอก. จึงถูกสั่งอายัดเหล็กตาม พ.ร.บ.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มาตราที่ 44 พร้อมสั่งให้ซินเคอหยวนฯ ปรับปรุงมาตรฐาน

โดยบริษัท ซิน เคอหยวน สตีล ยังไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน จึงขยายคำสั่งให้ปรับปรุงจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2568 และขยายให้อีกครั้งภายในวันที่ 7 เมษายน 2568 ล่าสุดในวันที่ 3 เมษายน 2568 ตรวจพบกองฝุ่นแดงกว่า 43,000 ตัน โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนั้นอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ระงับการขน Waste ออกนอกโรงงานและอายัดทั้งหมด พร้อมทั้งสั่งการให้บริษัทชี้แจงภายในวันที่ 10 เมษายน 2568 ซึ่งบริษัทยังไม่ชี้แจงอะไรเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 สมอ.ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังบริษัทตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายสินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน และจะไม่ทดสอบตัวอย่างเหล็กล็อตเก่าซ้ำอีกครั้ง ซึ่งหนังสือแจ้งเตือนให้เวลา 30 วัน ในการสั่งปรับปรุงแก้ไขสินค้าซึ่งเลยกำหนดวันมาแล้ว โดยบริษัทอ้างว่าโรงงานถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวจึงไม่สามารถผลิตเหล็กล็อตใหม่ออกมาให้ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 สมอ.มีหนังสือแจ้งสรุปผลการตรวจติดตาม ไม่อนุญาตให้ทดสอบซ้ำอีกครั้งและแต้งเตือนให้แก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามที่สมอ.แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้โดยหนังสือแจ้งเตือนวันที่ 20กุมภาพันธ์ 2568 ยังมีผลบังคับใช้อยู่

นายพงศ์พลกล่าวว่า ในกระบวนการต่อไปกระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาในการพักใช้ใบอนุญาต และจะนำไปสู่การถอนใบอนุญาตถาวร รวมถึงจะถูกดำเนินคดีตามโทษต่างๆ ที่จะได้กระทำความผิด


กำลังโหลดความคิดเห็น