สำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมมือกับชุมชนและองค์กรพันธมิตรในการดำเนินโครงการ "กองทุนกากชา" และ "กองทุนปลากะพง" เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในการ ปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำโดยการใช้กากชาเป็นตัวช่วยกำจัดในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมทั้งปล่อยปลากะพงขาวเพื่อทำหน้าที่เป็นนักล่า ลดจำนวนปลาหมอคางดำ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียหายของผลผลิตสัตว์น้ำและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำนักงานประมงนครศรีธรรมราชได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน องค์กรในพื้นที่ เกษตรกร ชาวประมง และภาคเอกชน แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำตามมาตรการของกรมประมงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนให้ความชุกชุมของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง
สำหรับในปีนี้ยังมุ่งเน้นสร้างความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อควบคุมและป้องกันปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยการจัดตั้ง "กองทุนกากชา" และ "กองทุนปลากะพง" ขึ้น ช่วยกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนกากชา และลูกพันธุ์ปลากะพง จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
“การใช้กากชาและการเลี้ยงปลานักล่าเป็นแนวทางที่ช่วยลดต้นทุนและความสูญเสียในการจัดการกับปลาหมอคางดำ และปลากะพงยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัว” นายกอบศักดิ์ กล่าว
สำนักงานประมงนครศรีธรรมราช ได้จัดสรรกากชาจำนวน 1 ตันให้แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือกลุ่มแรก 30 ราย ในพื้นที่อำเภอหัวไทร และอำเภอปากพนัง เกษตรกรนำกากชาไปโรยในบ่อเลี้ยงกุ้งหรือปู เพื่อให้จับปลาหมอคางดำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ กากชายังเป็นวิธีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีผลกระทบต่อปูหรือกุ้ง และได้มอบลูกพันธุ์ปลากะพงให้กับเกษตรกรในอำเภอหัวไทร อีก 10 ราย โดยปลากะพงทำหน้าที่ปลานักล่าในบ่อ และช่วยสร้างรายได้เสริมเมื่อปลามีอายุโตเต็มวัย
ทั้งนี้ ประมงนครศรีธรรมราชยังให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้เกษตรกรในการเตรียมบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการหว่านกากชาก่อนการเลี้ยงในรอบถัดไป เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาชนิดนี้แพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเสียหายของผลผลิตอีกด้วย