บขส.สรุปผลศึกษาพัฒนาปรับปรุงสถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต2) ส.ค.นี้ จัดผังพื้นที่ 90 ไร่ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ จัดระบบจราจรใหม่ หาแนวทางเพิ่มรายได้ เป็นศูนย์รวมขนส่งสาธารณะ ส่วนย้ายไปสถานีกลางกรุงเทพฯพร้อมทำตามนโยบาย
รายงานข่าวจากบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บขส.อยู่ระหว่างศึกษาวางแผนในการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร (จตุจักร) หรือสถานีหมอชิต 2 โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ในกรอบวงเงิน 39 ล้านบาท (งบประมาณ ปี 2568) คาดจะสรุปผลการศึกษาประมาณ เดือนส.ค. 2568 เมื่อได้รายละเอียดการพัฒนาและวงเงินลงทุนในการปรับปรุงแล้ว จากนั้นจะนำเสนอของบประมาณในปี 2570 ต่อไป
สำหรับการศึกษานั้นจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 90 ไร่ (พื้นที่เช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันเป็นในส่วนของบขส. สำหรับสถานีขนส่งหมอชิต2 และมีพื้นที่ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ด้านทิศใต้ ประมาณ 16 ไร่ ก็จะนำศึกษารวมกันเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์รวมการขนส่งสาธารณะ โดยมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ปลอดภัย ให้บริการสำหรับคนทุกกลุ่ม ตามหลักการออกแบบเพื่อคนทุกวัย (Universal Design หรือ UD) จัดระบบบริการขาเข้า ขาออก จัดระบบการจราจรภายในสถานีให้มีความคล่องตัว
แหล่งข่าวกล่าวว่า สถานีขนส่งผู้โดยสาร (จตุจักร) หรือสถานีหมอชิต 2 เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2541 หรือประมาณ 26 ปี และไม่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงมานานแล้ว ปัจจุบันมีประชาชน ใช้บริการเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา บขส.มีรายได้และนำมาใช้จ่ายในการบริหารกิจการและพัฒนาให้บริการ ต่างๆ โดยไม่ใช้งบประมาณรัฐ แต่ในการปรับปรุงพัฒนาครั้งนี้ คาดว่าต้องลงทุนจำนวนมาก รายได้ที่มีอาจไม่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต้องขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อประโยชน์ในการให้บริการขนส่งสาธาณะในภาพรวมโดยมีกรอบเวลาพัฒนาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากจะต้องดำเนินการในขณะที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
ทั้งนี้ กรณีการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 และสถานีขนส่งเอกมัย ไปรวมที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นั้นอยู่ที่นโยบายกระทรวงคมนาคม โดยบขส.พร้อมปฎิบัติตาม
สำหรับขอบเขตการศึกษาพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร (จตุจักร) หรือสถานีหมอชิต 2 ได้แก่ 1. ศึกษากิจกรรมและพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ และหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความต้องการและความจำเป็นของการใช้พื้นที่ภายในสถานีขนส่งฯ ทั้งปัจจุบัน และในอนาคต เพื่อนำมาวิเคราะห์ความต้องการ ความเป็นไปได้ และวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ภายในและบริเวณโดยรอบสถานีขนส่งฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2.นำเสนอแนวทางการบริหารทรัพยากรอาคาร ซึ่งประกอบไปด้วย โครงสร้างการบริหารงาน แผนปฏิบัติงาน งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าสูงสุด
3.นำเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรพื้นที่และแนวทางในการเพิ่มรายได้พื้นที่ในส่วนต่าง ๆ ในอาคารสถานีขนส่งฯ อาทิ พื้นที่ธุรกิจร้านค้าและบริการพื้นที่โฆษณา และพื้นที่ลานจอดรถ เป็นต้น
4. ศึกษา ตรวจวัด ตรวจสอบ และประเมินสภาพแวดล้อม ความปลอดภัย ของโครงสร้างอาคาร โครงสร้างทางวิศวกรรมและงานสถาปัตยกรรม ทั้งหมดของสถานีขนส่งฯ เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบดับเพลิง เป็นต้น
5.ศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอ แนวทางการพัฒนาความยั่งยืนในอาคารสถานีขนส่งฯ การทำอาคารพลังงานไฟฟ้า การจัดการ ด้าน Net Zero เป็นต้น
6.ออกแบบเพื่อการประกวดราคา (Tender Drawings) และรายละเอียด
อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานปรับปรุงอาคารสถานีขนส่งฯ และพื้นที่ลานจอดรถให้มีความทันสมัย ปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร พื้นที่พักผู้โดยสารทั้งภายในและภายนอกอาคารสถานีฯ พื้นที่สำนักงาน พื้นที่ธุรกิจร้านค้าและบริการ พื้นที่โฆษณา และพื้นที่ลานจอดรถ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย ปลอดภัย
7,ออกแบบเพื่อให้ได้แบบเพื่อการประกวดราคา (Tender Drawings) และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง งานปรับปรุงอาคารชานชาลา การจัดการเส้นทางจราจร ทั้งภายในและบริเวณโดยรอบอาคารสถานีขนส่งฯและพื้นที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ให้มีความทันสมัย
ปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
8. นำเสนอแนวทางการเชื่อมต่อระบขนส่งสาธารณะ อาทิ ระบบขนส่งทางราง (รถไฟ,รถไฟฟ้า) ระบบขนส่งทางถนน (รถโดยสารสาธารณะ) ได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และไร้รอยต่อ
9.ศึกษาความเหมาะสม ในการเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารของทุกเส้นทางแบบในปัจจุบัน ว่ามีศักยภาพเพียงพอในการให้บริการประชาชนหรือไม่ อย่างไรหากไม่เหมาะสมให้เสนอแนวคิดว่า ควรยังอยู่รวมกันทุกเส้นทาง หรือแยกเส้นทางกันในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งนำเสนอข้อคิดเห็นว่าควรเป็นพื้นที่ใด เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อระบบชนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย ไร้รอยต่อ