xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” เขย่าโลก รีดภาษีนำเข้าสุดโต่ง ไทยหืดขึ้นคอ! เร่งกู้ความเชื่อมั่น-ส่งทีมเจรจาสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยกระอัก! เมื่อมหามิตรอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนความมิตรประเทศหรือศัตรู ประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 68 กำหนดภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากทุกประเทศ (Baseline Tariff) ในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. 68 และภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการเป็นรายประเทศ สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูง ซึ่งประเทศไทยถูกจัดภาษีในอัตรา 36% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. 68 ทำให้สงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น อันนำไปสู่เศรษฐกิจโลกถดถอย

ขณะเดียวกัน “ทรัมป์” เปิดช่องให้ประเทศคู่ค้ามาเจรจาเพื่อแก้ไขและเยียวยาการค้าที่ไม่เป็นการต่างตอบแทน รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐฯ ในด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจพิจารณาปรับลด (Decrease) หรือจำกัด (Limit) ขอบเขตการจัดเก็บภาษี แต่หากประเทศคู่ค้าใช้มาตรการตอบโต้ (Retaliate) สหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฯ รวมถึงการใช้มาตรการอื่นๆ ก็อาจจะโดนเล่นงานโดยจัดเก็บเพิ่มขึ้นหรือขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ทำให้หลายประเทศในอาเซียน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงมาก ได้เทกแอ็กชันทันที เสนอปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเหลือ 0-5% และพร้อมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าไฮเทคโนโลยี เพื่อแลกกับสหรัฐฯ ลดภาษีตอบโต้เป็น 0% เป็นอัตราเดียวกันที่เวียดนามคิดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ฯลฯ พร้อมจะส่งทีมเศรษฐกิจไปร่วมเจรจากับสหรัฐฯ ด้วย


ขณะที่ประเทศไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนหารือเร่งด่วนในทันที หลังทีมเศรษฐกิจคาดการณ์อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นเพียงแค่ 10-15% เท่านั้น แต่เมื่อทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าช็อกโลกอย่างโหด! สูงกว่าที่คาดไว้ 3 เท่าตัว และมีผลบังคับในวันที่ 9 เม.ย.นี้ เพื่อหาแนวทางเจรจาและลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยให้น้อยที่สุด และเตรียมนำทีมไปเจรจากับทางสหรัฐฯ ในเรื่องดังกล่าวภายใน 2-3 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ส่งออกต่างกุมขมับก็มืดแปดด้าน ด้านนายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" ยืนยันว่ารัฐได้เตรียมมาตรการรับมือ ทั้งปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า ตั้งทีมเจรจา ไม่ต้องเป็นห่วง และเชื่อจะไม่ให้กระทบเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่วางไว้

คาดหวังว่ารัฐบาลจะมีทางออกที่ดี ไม่ทำให้ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญตัวหนึ่งในการพยุงเศรษฐกิจไทยต้องสะดุด ขณะที่เครื่องจักรสำคัญอย่างภาคการท่องเที่ยวปีนี้ก็ส่อเค้าพลาดเป้า จากปัจจัยการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจากแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาที่มีความรุนแรง ขนาด 8.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ส่งผลให้หลายตึกอาคารสูงในกรุงเทพฯมีความเสียหาย โดยเฉพาะตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งนี้มีผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่วางแผนเตรียมบินมาเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีจำนวนไม่น้อยพากันพับแผนการเดินทางมาไทย เนื่องจากกังวลด้านความปลอดภัย ดังนั้นเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวยังไปต่อได้ จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องฟื้นความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วนกับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างชาติที่หวังใช้ไทยเป็นฐานการผลิต


นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สิ่งที่ กนอ.ดำเนินการทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคทั้งระบบน้ำ และไฟฟ้า ภายในนิคมฯ รวมถึงท่าเรืออุตสาหกรรมอย่างด่วน โดย กนอ.ได้รับการยืนยันว่าไม่มีนิคมฯ ที่ได้รับผลกระทบ หรือเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวเลย

แม้แต่อุตสาหกรรมที่ค่อนข้างอ่อนไหวในการผลิต (sensitive) อย่างอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ฯลฯ ก็ยังมีการผลิตตามปกติ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัยเนื่องจากนิคมฯ ตั้งอยู่ในต่างจังหวัด

หากมองในมุมกลับ เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงเช่นนี้ แต่นิคมฯ ไทยไม่ได้รับผลกระทบเลย จึงเป็นการการันตีความปลอดภัย เรียกความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติจะไม่ผิดหวังที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในอนาคต

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กนอ.ทั้ง 71 นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีโรงงานทั้งหมด 5,375 แห่ง


อย่างไรก็ดี การขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่สินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษี 36% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่ก็ต่ำกว่าเวียดนาม ที่ถูกเก็บภาษีอัตราร้อยละ 46 กัมพูชา 49% และลาว 48% ส่วนจีนถูกเรียกเก็บภาษีรอบนี้ที่ 34% แต่เมื่อรวมกับก่อนหน้าที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าไปแล้ว 20% ทำให้สินค้าจีนถูกจัดเก็บภาษีมากถึง 54% ดังนั้นไทยยังมีความได้เปรียบในการดึงเม็ดเงินลงทุนอยู่ แต่หากประเทศอื่นๆ มีการเจรจากับสหรัฐฯแล้วได้ลดการเก็บภาษีตอบโต้ต่ำกว่าไทยก็มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องวางแผนแนวทางต่างๆ เพื่อใช้ในการเจรจากับสหรัฐฯ โดยเร็ว ต้องรู้ว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าใดบ้าง รวมทั้งเร่งแก้กฎหมายเพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางช่วยชะลอหรือปรับลดอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ลง ทำให้ไทยไม่เสียเปรียบประเทศคู่แข่งในการส่งออกสินค้าเข้าตลาดสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนไทยต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อเปิดตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากเกินไป ลำพังไทยเพียงประเทศเดียวไม่มีเพาเวอร์เพียงพอที่จะตอบโต้โดยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหมือนหลายประเทศในโลกที่เตรียมทำอยู่ อย่างจีน สหภาพยุโรป เป็นต้น


ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็เรียกประชุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทันทีหลังจากสหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ไทยสูงถึง 36% นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ในการประชุมเร่งด่วนครั้งนี้เพื่อระดมสมองหามาตรการรับมือ ภายหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าที่ภาครัฐและเอกชนเคยคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว หากประเมินมูลค่าความเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าวสูงถึง 8-9 แสนล้านบาท

โดยให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไปศึกษาผลกระทบและความเสียหายมากน้อยเพียงใด เพื่อหาจุดยืนร่วมกันนำข้อมูลมาวิเคราะห์และเสนอแนวทางให้แก่รัฐบาลต่อไป

ในที่ประชุม ส.อ.ท.ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้า มีทั้งอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers -NTB) พบว่ามีสินค้าที่มีการเก็บภาษีสูงและมีข้อจำกัดนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรมีอัตราภาษีนำเข้าสูงและมีมาตรฐานด้านสุขอนามัยในสินค้าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก รวมถึงผลิตภัณฑ์นมและอาหารแปรรูป เช่นเดียวกับยานยนต์ที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูง ส่วนไวน์เก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 400%

ส่วนอุปสรรคด้านการลงทุนต่างชาติ ประเทศไทยมีกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ในภาคบริการการเกษตร และโทรคมนาคม ส่วนสิทธิประโยชน์บีโอไออาจจะมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการขออนุญาต 

การค้าดิจิทัลและข้อกําหนดด้านข้อมูล (Digital Trade & Data Localization) มีข้อจำกัดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน ส่วนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งไทยอยู่ใน "บัญชีเฝ้าระวังพิเศษ" (Special 301 Watch List) อยู่แล้วก็ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข

ส่วนภาคเกษตร มีข้อจำกัดเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืชและพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ระบบใบอนุญาตนำเข้าและโควตากระบวนการยุ่งยาก โดยเฉพาะเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากนม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ธุรกิจอาหารโดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งอัตราภาษีที่สูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมก็ได้รับผลกระทบตั้งแต่แรกโดยถูกเรียกเก็บภาษี 25% ทำให้มีคำสั่งซื้อลดลงจากต้นทุนภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น

ประเทศไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ที่ 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 มากกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยขยับขึ้นมาเป็นอันดับอยู่ที่ 11 ประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ


นายเกรียงไกรกล่าวว่า ในการหารือร่วมกับภาครัฐ ได้มีมาตรการรับมือสหรัฐฯ เช่น เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐฯ ทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยไทยพร้อมนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อมาแปรรูปและส่งออกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้กฎหมายและภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า พลังงานอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าหนัก เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น เพื่อลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ หากรัฐไม่เทกแอ็กชันเชื่อว่าจะกระทบต่อ GDP ไม่ต่ำกว่า 1%

ขณะเดียวกัน สิ่งที่สหรัฐฯ กังวลว่าต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยแบบสวมสิทธิ์ เพื่อเป็นยืนยันว่าไม่มีการสวมสิทธิ์สินค้าไทย ดังนั้นจะออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น รวมทั้งทบทวนภาษีและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มอเตอร์ไซค์ ฮาร์เลย์ ที่ไทยตั้งกำแพงภาษีไว้สูง 40-60% ซึ่งสหรัฐฯ อยากมาขายที่ไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด การอุดหนุนสินค้าอย่างจริงจังเพื่อสกัดไม่ให้เกิดการทะลักของสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการผลิตไทยอย่างที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งสินค้านำเข้าราคาถูกส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานจึงไม่เหมาะสมต่อผู้บริโภค


กำลังโหลดความคิดเห็น