xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ลุยศึกษาทบทวนรถไฟสาย”สีแดงเข้ม” บอร์ดเคาะจ้างที่ปรึกษาช่วง”วงเวียนใหญ่ – มหาชัย”เป้าตอกเข็ม ปี72

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.อนุมัติสั่งจ้างที่ปรึกษา ทบทวนการศึกษาและทำรายงาน EIA “รถไฟสายสีแดงเข้ม”ช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย วงเงิน 135.62 ล้านบาท เตรียมเซ็นสัญญา เม.ย.นี้ ศึกษา 15 เดือน กางแผนเริ่มสร้างม.ค.72 เปิดบริการม.ค.76 หลังมติคจร.ตัดช่วง หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ออกเหตุมีปัญหาผลกระทบเวนคืนสูง

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ครั้งที่ 4/ 2568 วันที่ 27 มี.ค. 2568 ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติอนุมัติสั่งจ้าง ที่ปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม แบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ จัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย กรุงเทพมหานคร โดยมีกิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด มีผู้เข้าร่วมค้า 4 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท เทสโก้ จำกัด(Lead Firm) 2.บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด 3. บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์จำกัด และ 4.บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก วงเงินสัญญา 135,622,250 บาท

ซึ่ง รฟท. จะลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาและแจ้งให้ที่ปรึกษาเริ่มงานได้ภายในเดือน เม.ย. 2568 โดยที่ปรึกษาจะมีระยะเวลาดำเนินการตามสัญญา 15 เดือน (เม.ย.68 - มิ.ย.69) และโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเดือน ม.ค. 2572 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี กำหนดแล้วเสร็จเดือน ธ.ค. 2575 และเปิดให้บริการเดือนม.ค. 2576


โดย ก่อนหน้านี้บอร์ดได้มอบหมายรฟท.ไปหารือกับ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข. ) ในการดำเนินโครงการสายสีแดงช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย และที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) วันที่ 23 ธันวาคม 2567 เห็นชอบการปรับเปลี่ยนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง จากเดิมจากหัวลำโพง - วงเวียนใหญ่- มหาชัย เป็น วงเวียนใหญ่ – มหาชัย โดยตัดช่วง หัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ออกไปก่อนเนื่องจากติดปัญหาพื้นที่มีชุมชนหนาแน่น และจากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง การใช้ประโยชน์ที่ดินปรับเปลี่ยน ส่งผลให้โครงการมีมูลค่าสูงเนื่องจากต้องการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก รวมถึงสะพานสำหรับข้ามแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ผ่านการพิจารณาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ซึ่งปรับเปลี่ยนรถไฟสายสีแดง เป็นวงเวียนใหญ่–มหาชัย มีแผนการเชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายอื่นให้มีความสะดวก ได้แก่ สถานีวงเวียนใหญ่ สามารถเชื่อมต่อที่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสีลม) รวมไปถึงสามารถใช้สายสีม่วงใต้ ต่อไปยังรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินได้ที่สถานีท่าพระได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ตามผลศึกษาเดิม รถไฟสายสีแดง ช่วงวงเวียนใหญ่ - มหาชัย ระยะทาง 33.16 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 48,129 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น