xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ คืบหน้า 53.48 % ประธานบอร์ดรฟม.ตรวจไซด์ก่อสร้างเช็คอุโมงค์-ทางยกระดับ ย้ำมาตรฐานวัสดุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานบอร์ด รฟม.ตรวจรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รีเช็คความปลอดภัยหลังเกิดแผ่นดินไหว ทั้งอุโมงค์และยกระดับรวมถึงอาคารจอดรถไฟฟ้า และอาคารจอดแล้วจร มั่นใจ แข็งแรงตามมาตรฐาน ย้ำรฟม.ตรวจวัสดุ-ขั้นตอนก่อสร้างอย่างเคร่งครัด

วันนี้ (4 เมษายน 2568) นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในฐานะประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วย กรรมการ รฟม. และ ผู้บริหาร รฟม. ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานตามมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้างในที่สูง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง - ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า และอาคารจอดแล้วจร ณ บริเวณคลองราษฎร์บูรณะ

นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการ รฟม. เปิดเผยว่า ได้ติดตามตรวจสอบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ให้เป็นไปตามมาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุดตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ภายหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ถือเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่มีโครงสร้างทั้งใต้ดินและยกระดับ 


สำหรับในพื้นที่ของสัญญาที่ 5 นี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ซึ่งต้องมีงานติดตั้ง Viaduct Segment และงานติดตั้ง Cross Beam จึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบการทำงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การตรวจสอบ Launching Gantry การตรวจสอบนั่งร้าน การตรวจสอบขบวนการขนส่ง Segment การตรวจสอบการยกติดตั้ง Pier Segment การตรวจสอบการติดตั้ง Viaduct Segment และตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างด้านบนทางวิ่งให้มีการจัดทำราวกันตกและติดตั้งตาข่ายป้องกันวัสดุตกหล่น (Safety Net) ให้เรียบร้อย


นอกจากนี้ ภายหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ตนได้เน้นย้ำให้ รฟม. ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้างต้องได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการรับแรงสั่นสะเทือนและต้านทานแผ่นดินไหว รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. มีความปลอดภัยอย่างแน่นอน


รวมถึง ได้กำชับให้ รฟม. กำกับดูแลผู้รับจ้างให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่พื้นที่กรุงเทพมหานครกำลังประสบกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เช่น การฉีดพรมน้ำเพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 การตรวจสอบสภาพเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน การดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน และลดกิจกรรมบางส่วนที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง เป็นต้น รวมไปถึงมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจร โดยเฉพาะในจุดที่มีการจราจรคับคั่ง อาทิ ชุมชน โรงเรียน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตำรวจในท้องที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรให้แก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 53.48 % มีระยะทางรวม 23.63 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างผสมระหว่างโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร






กำลังโหลดความคิดเห็น