กกร.จับตานโยบายขึ้นภาษีสหรัฐฯ คืนนี้
เตรียมพร้อมรับมือร่วมกับภาครัฐ คาดกระทบ GDP ลดลง 0.2-0.6% จากเดิมที่ตั้งเป้าปีนี้ GDP อยู่ที่ 2.4-2.9% ห่วงการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ (Pool Gas) ที่จะผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซฯ ไปให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ชี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตฯ สูงถึง 30,000 ล้านบาท สุดท้ายประชาชนแบกรับซื้อสินค้าแพง
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานในพิธีแถลงข่าวการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน หรือ กกร. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการทบทวนหลายเรื่องทั้งผลกระทบจากแผ่นดินไหว และสิ่งที่จะตามมาจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ทาง กกร.ได้มีการเตรียมพร้อมระดับหนึ่งที่คาดเดาไว้ล่วงหน้า
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการตอบโต้ทางการค้าสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ที่ 4.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 มากกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยขยับขึ้นมาเป็นอันดับอยู่ที่ 11 ที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตัวเลขเกินดุลสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัทสหรัฐฯ มาตั้งโรงงานในไทยแล้วส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ หรือขายในไทย ลำพังอุตสาหกรรมที่เกินดุลที่ผลิตในไทยเองมีไม่มากขนาดนั้น ส่วนสินค้าเกษตรเกินดุลประมาณ 2-3 พันล้านดอลลาร์ หรือไม่เกินแสนล้านบาท เราก็ต้องหามาตรการซื้อสินค้าเกษตรกลับ
“เราคงต้องรอคืนนี้ก่อนว่าจะโดนสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเป็นประเทศหรือเป็นรายสินค้า เรายังคาดเดาไม่ได้ ออกมาแล้วค่อยทำการบ้านแล้วเจรจากับสหรัฐฯ แต่ก็ห่วงสินค้าต่างประเทศจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เป็นหน้าที่รัฐบาลไทยและเอกชนต้องหาทางรับมือ”
สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี ของไทย อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบายมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง นอกจากนี้ ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยอาจรุนแรงขึ้น รวมถึงสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังการเจรจาการค้า
ทั้งนี้ กกร.คาดการณ์เศรษฐกิจเดือนมีนาคมนี้จะยังคง GDP อยู่ที่ 2.4-2.9% เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่หากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีกับไทยด้วยจะกระทบ GDP ประเทศเบื้องต้น 0.2-0.6% ถือเป็นการประมาณการแค่นี้ก่อน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังอาจถูกกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวได้ช้าและเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยภาครัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับมาอย่างเร่งด่วน โดยเคลียร์ปัญหาตึกสตง.ถล่ม เร่งหาสาเหตุและเปิดเผยตึก สตง.ถล่ม ขณะเดียวกันหามาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต และควรใช้โอกาสที่มีการสำรวจความปลอดภัยของอาคารและสิ่งปลูกสร้างจากเหตุแผ่นดินไหว เปิดเผยข้อมูลการสำรวจอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน รวมถึงนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี กกร.พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยติดต่อผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้าง และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงดีลเลอร์เพื่อให้ขายสินค้าในราคาถูกพิเศษ
ดังนั้น ไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเร่งดำเนินการผ่าน 1) นโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ 2) นโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่างๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.มีความกังวลต่อนโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ที่มีแนวคิดจะผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติไปให้ภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ตลอดจนพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่การโยกตัวเลขหรือผลักภาระต้นทุนพลังงานไปให้อีกภาคส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ขอให้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนกับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญต่อการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง