กทท.เผยแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ขยายภารกิจ แก้นิยามจากเกี่ยวเนื่องเป็นต่อเนื่อง โดยต้องเป็นประโยชน์รัฐ-ประชาชน-การท่าเรือฯ และไม่ขัดพ.ร.บ.เวนคืนฯ ปี 2480 ยันพัฒนาเชิงพาณิชย์ มีขั้นตอนกำกับ ต้องศึกษาแผนแม่บทจัดผังพื้นที่ 2 พันไร่ มีโซนที่อยู่อาศัย และ ครม.ต้องอนุมัติก่อน
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.ดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เพื่อให้การบริหารกิจการของ กทท.มีความคล่องตัวและทันสมัย เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และเพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ท่าเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในการแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือฯ เพื่อให้เป็นประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และต้องเป็นประโยชน์ต่อการท่าเรือฯ ด้วย โดยมีการขยายนิยามบทบาทของการท่าเรือฯ ให้กว้างมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ พ.ศ. 2480 โดยพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ไม่ใช่ที่ราชพัสดุ เป็นที่ดินเวนคืนและบริจาค มีโฉนดที่ดินจำนวน 408 แปลง เนื้อที่ 2,353.2 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯ พ.ศ. 2494 เดิม กำหนดให้ทำธุรกิจทางตรงเท่านั้น ภายใต้คำนิยามว่า “เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่อง” ทำให้สามารถดำเนินการได้คือ ท่าเทียบเรือ ดำเนินการขนส่งทางเรือ คลังสินค้า ฯลฯ ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ได้ขยายบทบาทของการท่าเรือฯ โดยเปลี่ยนข้อความ “เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่อง” เป็น "เกี่ยวกับ หรือเกี่ยวเนื่อง แต่ต้องเป็นประโยชน์ต่อการท่าเรือฯ ด้วย" ตามมาตรา 8 ซึ่งจะทำให้สามารถทำธุรกิจได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่เกิดการตีความในอนาคต
ซึ่งจะส่งผลให้สามารถพัฒนาโครงการพัฒนาที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูง (Smart Community) ที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนและการท่าเรือฯ สอดคล้องกัน เนื่องจากภารกิจตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ รวมไปถึงสามารถดำเนินโครงการท่าเรือบก ซึ่งเดิมไม่ได้จัดอยู่ในธุรกิจที่ “เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่อง” ได้อีกด้วย และสามารถจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาหรือตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) กับเอกชนเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นๆ เช่น เรือลากจูง ซึ่งปัจจุบันการท่าเรือฯ ต้องลงทุนซื้อเรือเอง จะเป็นการลดต้นทุนได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ใหม่ แม้จะขยายขอบเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้กว้างขึ้น แต่กำหนดอำนาจคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือฯ เช่น การพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเนื้อที่ 2,353.2 ไร่ จะต้องมีการจัดทำแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) และแผนแม่บทต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตาม พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ใหม่ มาตรา 35/1 นอกจากนี้ ยังกำหนดโครงการที่ต้องเสนอ ครม.อนุมัติก่อน เช่น โครงการที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท, โครงการเช่าระยะเวลาเกิน 10 ปี วงเงินเกิน 300 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเนื้อที่ 2,353.2 ไร่นั้น ขณะนี้มีคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่การท่าเรือฯ มีแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านโลจิสติกส์และเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาเมือง และด้านการพัฒนาชุมชน เพื่อก้าวสู่ Logistics Hub ของภูมิภาค ด้วยหลัก 3 Smart (3S)
1. Smart & Green Port พื้นที่หลักสำหรับปฏิบัติงานของท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับให้เป็นท่าเรือ
ที่ทันสมัย มีศักยภาพรองรับธุรกิจพาณิชยนาวี เน้นการใช้พื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยว ลดต้นทุนโลจิสติกส์ผ่าน 3 โครงการสำคัญ
โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (Bangkok Logistics Park) ,,โครงพัฒนาท่าเรือกรุงเทพในลักษณะท่าเรืออัตโนมัติ (Terminal 3) , โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพกับทางพิเศษบางนา-อาจณรงค์ (S1)
2. Smart Commercial พัฒนาพื้นที่สำหรับโครงการเชิงธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงาน Retail Mixed Use หรือโครงการอื่นๆ ที่สามารถสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว โดยการบริหารจัดการและพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการท่องเที่ยวทางน้ำ และจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำ
3. Smart Community พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ โดยเป็นพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูง (Smart Community) และศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้มีมาตรฐานและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง สร้างความสุข ลดความเหลื่อมล้ำและเกิดความเสมอภาคในสังคม ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2567 การท่าเรือฯ มีรายได้สูงสุดแตะ New High รวม 17,224 ล้านบาท ถือเป็น New High ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และมีกำไรสุทธิ 7,648 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งการท่าเรือฯ และนำส่งรายได้แผ่นดินในปีงบประมาณจำนวน 5,605 ล้านบาท โดยผลกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (2565-2567) มีกำไรสุทธิเฉลี่ยปีละ 6,863 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อนหน้า (2562-2564) มีกำไรสุทธิเฉลี่ยเพียงปีละ 5,834 ล้านบาท