xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีด ”ไทย-จีน” แข็งแรง รฟท.ยันใช้เหล็กมีคุณภาพตรวจสอบก่อสร้างทุกขั้นตอน หลังมีชื่อบริษัทจีนสร้างตึก สตง.รับงานสัญญา 3-1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.ยืนยันก่อสร้างไฮสปีด "ไทย-จีน" ตรวจสอบทุกขั้นตอน ใช้เหล็กมีคุณภาพมาตรฐาน ขณะที่บริษัทจีน CREC10 รับงานร่วม อิตาเลียนไทยฯ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า กว่า 9.3 พันล้านบาท ตรวจงานโครงสร้างอาคารสถานี และอุโมงค์ หลังแผ่นดินไหวยังแข็งแรง

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CREC10 นอกจากเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ซึ่งพังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 แล้ว กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10 นี้ ยังปรากฎเป็นผู้รับเหมา ในสัญญาจ้างก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยพบว่า ผลงานก่อสร้าง ณ เดือนม.ค. 2568 มีความก้าวหน้า 5.470% ล่าช้า 10.360% (แผนงาน 15.830%)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีกระบวนการตรวจสอบในทุกขั้นตอน รวมไปถึงมาตรฐานคุณภาพเหล็กที่นำมาใช้ในโครงการ

จากการตรวจสอบงานโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 3-1 ใช้เหล็กเสริมจาก บริษัท ทาทา สติล และเป็นเหล็กที่ผลิตโดยโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล ที่มีจำหน่ายอยู่หลายสาขาทั่วโลก เหล็กที่ใช้เป็นการผลิตแบบปล่อยให้เหล็กเย็นลงโดยไม่ได้ใช้ละอองน้ำฉีดเข้าไปโดยมีการควบคุมคุณภาพ ดังนี้

1. ผู้รับจ้างจะต้องขออนุมัติผู้ผลิต และทางผู้ควบคุมงานจะต้องไปตรวจโรงงานเพื่ออนุมัติและรับรองการผลิต
2. ก่อนที่จะนำเหล็กจากโรงงานมาใช้ต้องมีการทดสอบคุณภาพของเหล็กตามข้อกำหนด โดยจะมีการทดสอบที่เพิ่มจากมาตรฐานของไทยคือต้องมีการทดสอบความล้าของเหล็กแต่ละขนาด
3. เมื่อเหล็กมาถึงหน้างานจะต้องมีการเก็บ tag ของเหล็กไว้ตรวจสอบ และจะต้องมีการสุ่มตัวอย่างโดยผู้ควบคุมงานและทำการทดสอบตามข้อกำหนด
4. ก่อนทำการเทคอนกรีต ผู้ควบคุมงานจะทำการสุ่มตรวจจำนวน และขนาดเหล็ก ตามมาตรฐานจึงจะทำการเทคอนกรีต
5. ผู้ควบคุมงานจะออกตรวจหน้างานอย่างสม่ำเสมอหากพบสิ่งผิดปกติก็จะแจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขทันที หากไม่แก้ไขจะรายงานให้การรถไฟฯ ออกคำสั่งหยุดงาน


ด้านนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา ได้มอบหมายให้นายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนัก ปภ.จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยวิศวกร บริษัท กิจการร่วมค้าเอสพีทีเค จำกัด, บริษัท CSC และวิศวกร จากรัฐบาลจีน ร่วมตรวจสอบโครงการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา บริเวณจุดก่อสร้างในตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยทางวิศวกรได้ตรวจสอบโครงการฯ ตลอดช่วงในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย โครงสร้างระบบราง โครงสร้างอาคารสถานี และโครงสร้างอุโมงค์ ยังไม่พบความผิดปกติจากเหตุแผ่นดินไหว และแจ้งว่า โครงสร้างทุกส่วนออกแบบมาให้สามารถรับแผ่นดินไหวได้ และรับประกันความมั่นคงแข็งแรง 100 ปี


ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา จากการตรวจสอบ ส่วน บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้างแบบเดี่ยวอีก 2 สัญญา คือ สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท และสัญญา 4-4 งานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีบริษัทจีนที่เข้ารับงานอีก 1 สัญญา คือบริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด เข้าร่วมเป็นผู้ก่อสร้าง คือ สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525.35 ล้านบาท ในนามกิจการร่วมค้า CAN โดยร่วมกับ บจ.เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ


กำลังโหลดความคิดเห็น