xs
xsm
sm
md
lg

บางจากจับมือ 5 พันธมิตรชั้นนำ ป้อนวัตถุดิบให้ รง.SAF ผลิตใน Q2/68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บางจากฯ ผนึก 5 พันธมิตรธุรกิจ เพิ่มปริมาณการจัดหาวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตน้ำมัน SAF ขนาด 1 ล้านลิตรต่อวันที่คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค.นี้ เริ่มเดินเครื่องผลิตในช่วงปลายไตรมาส 2/68 วอนภาครัฐเคาะมาตรการส่งเสริม พร้อมกำหนดบังคับผสม SAFกับสายการบิน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า กลุ่มบางจากฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) และ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ผ่านกลไกความร่วมมือ MOU “การบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy” เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO)

ทั้งนี้ น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเป็นวัตถุดิบผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ โดยจะป้อนให้กับโรงงานผลิต SAF ขนาดกำลังการผลิตวันละ 1 ล้านลิตรของบางจากฯ ที่จะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิต SAF ปลายไตรมาส 2/2568 ซึ่งภายหลังจากการลงนามในครั้งนี้ จะทำให้บางจากฯ สามารถจัดหาวัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมรับซื้ออยู่ที่ 2แสนลิตรต่อวัน และคาดว่าในปีนี้ บริษัทจะสามารถรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วได้ 4 แสนลิตรต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในโครงการ SAF ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

เบื้องต้นโรงงานผลิตSAF จะเดินเครื่องจักรผลิตตามที่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำมันSAF ไปแล้ว คิดเป็น 60%ของกำลังการผลิต แต่จะเพิ่มมากขึ้นหลังจากรัฐบาลกำหนดให้สายการบินที่บินเข้าไทยและบินภายในประเทศไทยต้องใช้ร้ำมันอากาศยานที่ผสม SAF


ดังนั้น ความต้องการใช้น้ำมัน SAF เพิ่มขึ้นนั้น ต้องให้ภาครัฐส่งเสริมอย่างเร่งด่วน อาทิ การสร้างความหลากหลายของวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF และ การกำหนดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนหรือ mandate เพื่อผลักดันการใช้ SAF ในประเทศโดยเร็ว จึงขอเสนอแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณา mandate เช่นการกำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ และจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศของ SAF อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ยังสร้างโอกาสในการยกระดับประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาคในอนาคตได้

สำหรับราคาจำหน่าย SAF นั้น ปัจจุบันราคาจะสูงกว่าน้ำมันอากาศยานทั่วไปเท่าตัว แต่ก็ยังมีสัดส่วนผสมที่น้อยมาก เช่น 1-2% จึงมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันอากาศยานและค่าโดยสารมากนัก

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่บางจากฯ เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม “ประเด็นแนวทางความร่วมมือในการรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำมาผลิต SAF” ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นว่าประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและปรับบทบาทให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก รวมถึงการมุ่งมั่นสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ที่จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศและช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก

สำหรับเป็นการลงนามใน MOU ระหว่างบางจาก และพันธมิตรภาคธุรกิจที่มีการใช้น้ำมันปรุงอาหารในครั้งนี้ ช่วยสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ รองรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งทางอากาศ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy


กำลังโหลดความคิดเห็น