xs
xsm
sm
md
lg

เช็กโครงสร้าง "ทางด่วน-รถไฟฟ้า" ยังแข็งแกร่ง ยันมาตรฐานสากลออกแบบรับแรง "แผ่นดินไหว"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากเหตุแผ่นดินไหวศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ลึก 10 กิโลเมตร ในช่วงเวลา 13.20 น.ของวันที่ 28 มี.ค. 2568 แรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทย ประชาชนรับรู้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวม 57 จังหวัด ว่ากันว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอาคารสูงจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาพตึกโยกไปมา น่ากลัว และมีตึกที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มลงมาทั้งหมด สร้างความตื่นตกใจอย่างมาก ไม่ต่างอะไรกับโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างทางด่วน สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รถไฟฟ้า ที่ได้รับแรงสั่นสะเทือน จนเกิดการโยกไหวแรงเช่นกัน

@รถไฟฟ้า-สนามบิน หยุดให้บริการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังเกิดแผ่นดินไหว ได้สั่งการให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าหยุดให้บริการเดินรถไว้ชั่วคราว พร้อมกับอพยพคนออกจากตัวรถและสถานีลงสู่พื้นล่าง และให้อยู่ห่างจากบริเวณที่อาจจะมีสิ่งของร่วงหล่นหรือกระจกแตกได้ รวมถึงให้ ผู้ให้บริการเริ่มการตรวจสอบระบบงานโครงสร้าง ระบบไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ และผู้ให้บริการเฝ้าระวัง aftershock หรือเหตุแผ่นดินไหวซ้ำ พร้อมกับให้รอฟังประกาศจากภาครัฐจึงจะดำเนินการต่อไป

ส่วนการคมนาคมทางบก ได้สั่งการให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ให้ดำเนินการดูแลผู้โดยสาร โดยบริเวณอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร), สถานีปิ่นเกล้า, สถานีบรมราชชนนี, สถานีเอกมัย, สถานีรังสิต, สถานีเดินรถขนาดเล็ก ให้มีการอพยพพนักงานผู้โดยสารออกจากอาคารทุกสถานี และกำลังทำความเข้าใจกับผู้โดยสารทราบแผนการเดินรถ พร้อมกับแจ้ง หยุดดำเนินการทั้งหมดเป็นการชั่วคราว

ทางอากาศ ให้สนามบินทุกแห่งหยุดดำเนินการเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง และในเวลาต่อมา บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย หรือ บวท. และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้แจ้งว่า ทุกสนามบินได้กลับมาใช้ดำเนินการตามปกติเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 14.30 น. การให้บริการเครื่องบิน ทั้งขาขึ้นและขาลง เป็นไปตามปกติ 


@ขสมก.บริการเต็มกำลัง รถเมล์เอกชนใช้ไฟฟ้า เจอรถติดนานแบตเตอรี่หมด

ในขณะที่ระบบรถไฟฟ้าทุกสายหยุดบริการชั่วคราว เหลือเพียงการเดินทางด้วยรถยนต์สาธารณะที่ยังสามารถทำได้ โดยรถโดยสาร ขสมก.และรถเอกชน ยังเปิดให้บริการทุกเส้นทางตามปกติ เพื่ออำนวยความสะดวก แต่ปัญหาที่พบคือความต้องการเดินทางของประชาชนที่มากกว่าปกติ ประกอบกับการจราจรติดขัดอย่างมาก ทำให้การบริการไม่เพียงพอ ขณะที่รถเมล์ของเอกชนที่เป็นรถไฟฟ้า (รถ EV) เจอรถติดนาน แบตเตอรี่หมดต้องจอดกลางทาง

ส่วนการคมนาคมทางเรือ ไม่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ กรมเจ้าท่า (จท.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลทางน้ำ ประสานบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า และเรือคลองแสนแสบ เพิ่มเที่ยวเรือและจำนวนเรือ พร้อมขยายเวลาให้บริการ เพื่อระบายและลดความแออัดของผู้โดยสาร สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า และเรือในคลองแสนแสบ จะเพิ่มจำนวนเที่ยวเรือ และจำนวนเรือ รวมทั้งขยายเวลาการเดินเรือ โดยเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือไฟฟ้า จะขยายเวลาถึง 20.00 น และเรือในคลองแสนแสบ จะขยายเวลาถึง 20.30 น

ได้สั่งการให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนพร้อมให้บริการทุกจุด และจัดรถให้เพียงพอต่อประชาชน และบริหารจัดการการปล่อยรถให้สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ ทั้งนี้ หากเกิดเหตุ aftershock ให้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่พร้อมอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนอย่างทันที และต้องมุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

“ให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภัย ไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสารและพนักงานทั้งหมด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก”


@ตรวจเช็กความเสียหาย โครงสร้างพื้นฐานทันที

หลังสถานการณ์เริ่มนิ่ง ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานด้านโครงสร้างพื้นฐานระดมวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยโครงสร้างสะพานและถนน รถไฟฟ้า ที่เปิดให้บริการและที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทุกแห่ง ในทุกจังหวัด ว่าได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยให้คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย และหากพบจุดใดได้รับความเสียหายให้เร่งแก้ไขเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ทำเดินการ Inspection เส้นทางการเดินรถหลักทั้งเส้นทาง พร้อมทั้งตรวจสอบระบบต่างๆ

@ทช.เร่งเช็ก 13 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแข็งแรง ยัน”สะพานภูมิพล”สลึงไม่ขาด

กรมทางหลวงชนบท(ทช.) ในฐานะรับผิดชอบ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาดใหญ่ ได้เร่งตรวจสอบ 13 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมไปถึง สะพานยกระดับข้ามคลองและข้ามแยกในสายทาง ตลอดจนอุโมงค์ทางลอด ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังเหตุแผ่นดินไหว ยืนยันว่าไม่มีแห่งใดได้รับผลกระทบและสามารถใช้งานได้ตามปกติ ประกอบด้วย

1. สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
2. สะพานกรุงธน
3. สะพานพระราม 7
4. สะพานพระราม 5
5. สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
6. สะพานพระราม 4
7. สะพานพระราม 3
8. สะพานพระพุทธยอดฟ้า
9. สะพานพระปกเกล้า
10. สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน
11. สะพานกรุงเทพ
12. สะพานภูมิพล 1
13. สะพานภูมิพล 2
14. สะพานยกระดับข้ามคลองและข้ามแยกในสายทาง
15. อุโมงค์ทางลอด


@ทางด่วน-สะพานขึงพระราม 9 ไม่สะเทือน ออกแบบรับแผ่นดินไหว

ที่น่าเป็นห่วงคือโครงสร้างทางด่วนและสะพานขึงพระราม 9 รวมถึงสะพานคู่ขนานใหม่ “สะพานทศมราชัน”ซึ่งขณะเกิดแผ่นดินไหว มีการสั่งไหว ส่วนสะพานขึงพระราม 9 ประชาชนที่กำลังใช้เส้นทางทาง รู้สึกได้ถึงการโยกตัวไปมา ค่อนข้างแรง

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า การออกแบบก่อสร้างเส้นทางพิเศษ หรือ ทางด่วน ของ กทพ. ได้ออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานทางหลวงของสหรัฐฯ โดยให้สามารถรองรับกรณีที่ไทยเป็นศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวได้ 5-6 ริกเตอร์ แต่หากเกิดแผ่นดินไหวที่อื่น ที่มีระดับความรุนแรง 7-8 ริกเตอร์ แล้วสั่นสะเทือนถึงไทยนั้น ก็สามารถรองรับได้เช่นกัน

เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นการสะท้อนว่าการออกแบบตามมาตรฐานเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ซึ่งออกแบบรองรับน้ำหนักรถบรรทุกที่ 21 ตัน ซึ่งสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้ โดยจากที่มีการสำรวจโครงสร้างทางด่วนทั้งหมด ไม่พอความเสียหายใดๆ

ส่วนทางด่วนสายใหม่ เช่น ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ซึ่งมีสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา“สะพานทศมราชัน”มีการออกแบบตามมาตรฐานใหม่ ที่เพิ่มการรองรับแรงแผ่นดินไหว รวมไปถึงกฎหมายรับน้ำหนักบรรทุกที่เพิ่มขึ้นเป็น 25 ตัน และสามารถรับแรงลมได้สูงถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างทางวิศวกรรมขั้นสูง และทันสมัย ใช้มาตรฐานก่อสร้าง มาตรฐานวัสดุ ใช้มาตรฐานสากล และในการทำงาน จะเพิ่ม Safety Factor เข้าไปในแต่ละจุดเผื่อไว้อีก เพื่อไม่ให้มีส่วนใดทำงานต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัยได้เลย เป็นการยกระดับและปัองกันหลายชั้น

“กรณีที่มีภาพเศษวัสดุบนทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนองฯ รวงหล่นลงมาบนถนนพระราม 2 ช่วงหน้ารพ.บางมด ขณะเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากจุดนั้นเป็นช่วงรอยต่อของพื้นทางด่วนที่อยู่ในขั้นตอนการเชื่อม ต่อ ด้วยJoint เหล็ก และยังไม่ได้เทคอนกรีต พื้นด้านล่างจึงเป็นทรายและมีไม้อัดรองอยู่ การสั่นไหวทำให้ไม้อัดและทรายร่วงลงมา”


@รถไฟฟ้าโครงสร้างแข็งแรง

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.สั่งผู้รับสัมปทาน รถไฟฟ้า MRT 4 สาย ที่เปิดให้บริการ เร่งตรวจสอบประเมินโครงสร้างรถไฟฟ้า และความปลอดภัยของส่วนประกอบที่ยึดต่อกับโครงสร้าง และโครงการที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง พร้อมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เน้นปลอดภัยสูงสุดตามหลัก Safety first

โดยรถไฟฟ้ามหานครที่เปิดให้บริการทั้งหมด 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายมีน้ำเงิน) ไม่พบความเสียหายใดๆ สามารถเปิดให้บริการในวันรุ่งขึ้น หลังเกิดแผ่นดินไหว

@โมโนเรล "สีชมพู" เจอรางจ่ายไฟฟ้าเลื่อนจากตำแหน่ง

ส่วนรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) เนื่องจากเป็นระบบโมโนเรล โครงสร้างเป็นคานเปลือย รองรองรับราง ซึ่งจะแตกต่างจากรถไฟฟ้า เฮฟวีเรล สายสีน้ำเงินและสีม่วง ที่รางจะวางเป็นโครงสร้างอีกที การตรวจสอบจึงทำได้เร็วกว่า

ขณะที่คานเปลือย จะมีจุดที่อาจจะเข้าถึงยากกว่า คือมีจุดที่ไม่สามารถเดินสำรวจได้ ต้องมีเครื่องมือและขั้นตอน ในการเข้าไปสำรวจมากกว่า รวมไปถึง การตรวจเช็ค รางนำไฟฟ้าที่เรียกว่า Conductor Rail ตลอดเส้นทาง ซึ่ง MRT สายสีชมพู ตรวจพบว่ารางจ่ายไฟที่ยึดด้านข้างทางวิ่งมีการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งปกติ เพิ่มเติม 3 จุด บริเวณระหว่างสถานีมีนบุรีและสถานีตลาดมีนบุรี ช่วงข้ามคลองแสนแสบ จึงต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน ที่จะกลับมาเปิดให้บริการได้

“กรณีเกิดเหตุใดๆ ก็ตาม ระบบรถไฟฟ้าจะมีมาตรฐานในการตรวจสอทั้งโครงสร้างและระบบให้บริการทั้งหมดอย่าวละเอียด เหมือนตอนจะเรปิดรถไฟฟ้าใหม่เลย ดังนั้นทุกส่วนจะต้องมีความมั่นใจจึงจะเปิดให้บริการได้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด”


@รฟม.ยันรถไฟฟ้าใต้ดิน-ลอยฟ้า มาตรฐานก่อสร้างสูง

ส่วนรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างขณะนี้มี 2 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีโครงสร้างทั้งทางยกระดับและอุโมงค์ มีการออกแบบมาตรฐานสูงและคำนึงถึงการรับแรงแผ่นดินไหวมากขึ้น โดยมีข้อกำหนดรองรับแรงกระทำด้านข้าง เทียบเคียงได้กับการรับแรงแผ่นดินไหว ได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นเรื่องโครงสร้างไม่มีปัญหา

ส่วนระหว่างก่อสร้าง มีมาตรฐาน และ Safety first ในทุกขั้นตอนเช่นกัน โดยเฉพาะการทำงานภายในอุโมงค์ใด้ดิน จะมีข้อกำหนดควบคุม กำหนดจำนวนคนที่จะลงไปเนื่องจากพื้นที่จำกัด และถือเป็นพื้นที่มีความเสี่ยง มีการเช็คชื่อผู้ทำงานเข้า -ออกตลอดเวลา มีแผนฉุกเฉิน ขณะเกิดแผ่นดินไหว รายงานการอพยพคนงานออกมาจากพื้นที่ก่อสร้างได้ 100% ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ส่วนขั้นตอนการก่อสร้างต่อจากนี้ ได้มีการตรวจสอบไม่พบปัญหาและผู้รับเหมาเริ่มทำการก่อสร้างในส่วนที่มีความเสี่ยงต่ำและเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำงานต่อเนื่อง ส่วนจุดที่ยังมีความเสี่ยงสูงจะมีการประเมินก่อนที่จะเริ่มทำงาน หลักการคืองานต้องปลอดภัย ตามมาตรฐานและไม่ล่าช้า


กำลังโหลดความคิดเห็น