xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬา ผนึกบพข. ดันสงกรานต์ไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาและขับเคลื่อนเทศกาลสงกรานต์ไทยไปสู่เทศกาลระดับโลกเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย” และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สถาบันเอเชียศึกษา ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาและขับเคลื่อนเทศกาลสงกรานต์ไทยไปสู่เทศกาลระดับโลกเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย” ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สถาบันไทยศึกษา และสถาบันวิจัยสังคม โดยจะมีการจัดแสดงผลงานจากการวิจัยภายใต้แนวคิด “ร่วมราก แรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์“ ระหว่างวันที่ 1 – 2 เมษายน 2568 ณ มิวเซียมสยาม

การจัดกิจกรรมครั้งนี้จะนำเสนอข้อค้นพบของสงกรานต์ที่แสดงให้เห็นถึงการธำรงคุณค่า การเชื่อมโยงและการสรรสร้างมูลค่า สงกรานต์ไม่ได้เป็นเพียงวันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีรากเหง้าร่วมกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดร่วมสำคัญที่สะท้อนถึงคุณค่าอันลึกซึ้ง โดยเฉพาะเรื่องภาษา การเถลิงศก ระบบปฏิทิน และความสำคัญของน้ำ

วัฒนธรรมสงกรานต์มีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการส่งต่อทางวัฒนธรรม การเลือกรับ และปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ จนทำให้มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เห็นคุณค่าที่เชื่อมโยง ความยึดมั่นในพุทธศาสนา การธำรงความสัมพันธ์ในครอบครัวและสายใยทางสังคมที่เข้มแข็ง และความสนุกสนานรื่นเริง การละเล่นพื้นบ้าน และการพบปะสังสรรค์

การถอดบทเรียนเทศกาลโลก ระบบโครงสร้างพื้นฐานของเทศกาล และระบบนิเวศของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจำเป็นต้องแบ่งบทบาทหน้าที่และร่วมกันจัดการโดยชุมชนและหน่วยงานภาควิชาการได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้ภาครัฐและเอกชนดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเชื่อมโยงกับการขยายผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในการจัดเทศกาลระดับโลกให้ประสบความสำเร็จ

การพัฒนากลไกการส่งเสริมคุณค่าสู่มูลค่าผ่าน 5S : ประกอบด้วย Story Symbol System Supply chain และ Sustainability การพัฒนาแแบรนด์ของสงกรานต์ผ่านการสร้างสื่อสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อต่อยอดความเชื่อมโยงด้านพหุวัฒนธรรมในภูมิภาคและนำไปสู่การส่งเสริมเทศกาลสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลระดับโลก

การจัดกิจกรรมจำนวน 2 วัน (1-2 เมษายน 2568) ณ ลานหน้าด้านหน้ามิวเซียมสยาม ภายในงานประกอบด้วยการจัดเสวนา นิทรรศการ “ร่วมราก แรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์” Immersive Songkran experience การอบรมปฏิบัติการ Storytelling for Museum and Sciences การแสดงโดยศิลปินจากอินเดีย การฉาย Mapping การใช้สื่อสร้างประสบการณ์ เวิร์กชอป การละเล่นไทย บูธตลาดสินค้าและอาหารเทศกาลสงกรานต์ (ขนมเบื้องแพร่งนราขนมไทย, ร้านหอมปรุง by ใบห่อ ชุมชนจักรวรรดิ์สัมพันธ์, ร้านน้ำอบนางลอยเขตพระนคร, ไอศกรีม Arto: sweet revolution และ อื่นๆ) กิจกรรมลงสีว่าว เล่นว่าว ฯลฯ
กำหนดการ วันที่ 1 เม.ย. พิธีเปิดงานในเวลา 17.00 และยังมีกิจกรรม “เมื่อคิดถึงสงกรานต์ ท่านนึกถึงอะไร?” กิจกรรมโหวตแบบดีไซน์เสื้อสงกรานต์ที่ชื่นชอบ กิจกรรมประกอบการนำชม Immersive Songkran experience การแสดงวัฒนธรรมจากสถาบันเยาวนาฏศิลป์ เวทีเสวนา “ช่องว่างของเทศกาลสงกรานต์สู่เทศกาลระดับโลก” และเวทีเสวนา “บรรจงเปิดหน้าคุณค่าสงกรานต์” โดยมีดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และคณาจารย์อีกหลายท่านเข้าร่วม

จากนั้นชมการแสดงวัฒนธรรมจากรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย และพิธีเปิดตัวนิทรรศการ “ร่วมราก แรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์” พร้อมการนำเสนอการฉายไฟบนตัวอาคารหลัก (Light Mapping) โดยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนบพข. และแขกผู้มีเกียรติหลายภาคส่วนเข้าร่วมในพิธีเปิดงาน จากนั้นนำชมกิจกรรม Immersive Songkran experience ชมต้นแบบผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า แล้วปิดท้ายด้วยเวทีเสวนา “ทัศนะวิจารณ์: สงกรานต์สู่งานเทศกาลโลก”

ในส่วนกำหนดการในวันที่ 2 เมษายน นอกจากนิทรรศการ การออกร้าน และบูธตลาดสินค้าแล้ว ยังมีอบรมปฏิบัติการระบำ บิหู และการแสดงจากอัสสัม อบรมละครหุ่น Benir Putul จากอินเดีย กิจกรรม “เมื่อคิดถึงสงกรานต์ ท่านนึกถึงอะไร?” การแสดงรำมอญ โดยเยาวชนมอญจากสมุทรสงคราม การแสดงละครหุ่นโดยนิสิตจากคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแสดงวัฒนธรรมจากศิลปินนานาชาติ การแสดงดนตรีจากผู้พิการทางสายตา และรำวงนานาชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังจะมีการเปิดตัวแบบชุดเสื้อผ้าและเครื่องตกแต่งในเทศกาลสงกรานต์ เช่นกางเกงลายนาคให้น้ำ และมาสคอต รวมถึง Art Toy Water Gun นาคพ่นน้ำ อีกด้วย

จึงขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงาน “ร่วมราก แรกศก รื่นเริง มรดกสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 1 – 2 เมษายน 2568 ณ มิวเซียมสยาม


กำลังโหลดความคิดเห็น