บอร์ดรฟท.เคาะแก้สัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ซี.พี.วางแบงก์การันตีเพิ่ม 1.52 แสนล้านบาท รัฐควักจ่ายเร็วสร้าง 5 ปีเสร็จ ไม่เสียเปรียบแถมประหยัดดอกเบี้ย 2.4 หมื่นล้าน และโอนทรัพย์สินเป็นของรัฐทันที ไม่ซ้ำรอยโฮปเวลล์
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) วันที่ 27 มี.ค. 2568 ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ฉบับแก้ไขตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ที่ได้มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 มอบหมายให้รฟท.ไปดำเนินการ
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท.จะเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สำนักนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)เพื่อเสนอ บอร์ดอีอีซีและ ครม. พิจารณา โดยรฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ ได้ในเดือนมิ.ย. 2568 ซึ่งรฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานก่อสร้างโครงการฯหรือ NTP ได้ทันที ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยจะเริ่มนับอายุสัญญาไม่เกิน 30 วัน หลังลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ
สำหรับหลักการแก้ไขสัญญา มี 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.ปรับวิธีการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (Public Investment Cost: PIC) ทั้งโครงการ จากเดิมกำหนดชำระเงินเมื่อก่อสร้างโครงการฯ แล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการเดินรถ แล้ว จำนวนไม่เกิน 149,650 ล้านบาท เป็นโดยรัฐต้องจ่ายเร็วขึ้นตามจ่ายเป็นงวด ตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ รฟท. ตรวจรับ ซึ่งวงเงินรวมเป็น 125,932.54 ล้านบาท ซึ่งทำให้รัฐประหยัดค่าดอกเบี้ยได้ประมาณ 24,000 ล้านบาท
2. กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา
3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยเอกชนสละสิทธิ์เงื่อนไขการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก่อน
5. ปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น ของสกพอ.
@ซี.พี.วางแบงก์การันตีเพิ่ม 1.5 แสนล้านแลกสร้างไปจ่ายไป
นายอนันต์กล่าวว่า กรณีปรับเงื่อนไขรัฐจ่ายคืนค่าก่อสร้างจากเดิมที่ต้องก่อสร้างเสร็จและเปิดเดินรถแล้วเป็นสร้างไปจ่ายไปนั้น โครงการยังเป็นการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost ที่เอกชนยังคงรับความเสี่ยงทั้งด้านรายได้ จำนวนผู้โดยสารการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตามหลักการเดิม ส่วนที่รัฐจ่ายคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นจะเป็นไปตามผลงานการก่อสร้างที่เสร็จตามงวดงานจริง โดยเอกชนต้องโอนทรัพย์สินแต่ละงวดงานที่เสร็จเป็นของรัฐทันที โดยเอกชนยังคงดูแล บำรุงรักษาและบริหารตามระยะเวลาสัญญา 50 ปี การได้รับเงินเร็วขึ้น จะทำให้เอกชนมีความคล่องตัวในการจัดหาแหล่งเงินจากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ เมื่อรัฐจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการเร็วขึ้น ทางเอกชน จะต้องวางหนังสือค้ำประกัน(แบงการันตี) เพิ่มเติม กำหนดให้เอกชนนำมาวางหลังลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ 270 วัน เพื่อให้มีเวลาดำเนินการเรื่อง แหล่งเงิน ทั้งนี้การให้วางแบงก์การันตีเพิ่มเติม เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐจะมีเงินทุนสำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อได้ เมื่อเอกชนไม่สามารถดำเนินการต่อ และรัฐสามารถจัดหาผู้ดำเนินการรายใหม่ได้ โดยไม่มีประเด็นเรื่องทรัพย์สิน เหมือนกรณีโครงการโฮปเวลล์ เพราะมีการโอนเป็นของรัฐตามงวดงานที่แล้วเสร็จ
สำหรับหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติม มีจำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. หนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้างงานโยธา รวมดอกเบี้ยแล้ว วงเงิน 125,932.54 ล้านบาท (ให้แบ่งเป็นแบงก์การันตี 5 ฉบับๆละ 24,000 ล้านบาท) โดยมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งรัฐจะทยอยคืนเป็นงวด เมื่อมีการก่อสร้างงานโยธาเสร็จตามงวดงาน
2. หนังสือค้ำประกันค่างานระบบ รวมดอกเบี้ยแล้ว จำนวน 14,813.49 ล้านบาท โดยจะคืนแบงก์การันตีนี้ พร้อมกับแบงก์การันตีงานโยธา ฉบับที่ 5
3.หนังสือค้ำประกัน ค่าสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ย) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท โดยหักค่าสิทธิ์งวดแรก 1,500 ล้านบาท และรับแบงก์การันตีคืนเท่ากับค่าสิทธิ์ที่จ่ายในงวดต่อๆ ไปจนครบ 7 งวด
4. หนังสือค้ำประกันคุณภาพเดินรถ วงเงิน 748.25 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี
ส่วนเงื่อนไขหลักประกันสัญญา ที่มีการวางในวันลงนามสัญญาเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2562 มูลค่า 2,000 ล้านบาท (ดำเนินการแล้ว)
และ หลังจากออก NTP เริ่มก่อสร้าง เอกชนจะต้องวางหลักประกันสัญญาเพิ่มอีก2,500 ล้านบาท ทำให้มูลค่าหลักประกันสัญญา รวมเป็น 4,500 ล้านบาท
และหนังสือค้ำประกัน ผู้ถือหุ้น (ดำเนินการแล้ว) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่นคอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เพื่อตกลงร่วมรับผิดชอบโครงการไปตลอดอายุสัญญา 50 ปี มูลค่ารวม149,000 ล้านบาท ยังเป็นไปตามเดิม
@มิ.ย.ออก NTP เร่งสร้างช่วงรันเวย์อู่ตะเภา-ทับซ้อนไทยจีน
อย่างไรก็ตามจากการเจรจา หากสามารถลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ และออก NTP ให้ บจ.เอเชีย เอราวัน (ซี.พี.) เริ่มงานได้ภายในเดือนมิ.ย. 2568 รฟท.ได้แจ้งให้ซี.พี.เร่งเข้าพื้นที่ก่อสร้าง 2 จุด ที่เป็นงานเร่งด่วนก่อน คือ บริเวณใต้รันเวย์ ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา และบางซื่อ-ดอนเมือง บริเวณที่มี โครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟไทย-จีน(สัญญา 4-1 ) ซึ่งจะต้องเร่งการออกแบบเพื่อให้เริ่มก่อสร้างภายใoปีนี้