xs
xsm
sm
md
lg

ดันสร้าง "โมโนเรลปทุมธานี" แก้รถติด นำร่อง 2 เส้นทาง 2.6 หมื่นล้าน ตอกเข็มปี 71

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • โครงการมุ่งแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่
  • • มีเส้นทางนำร่อง 2 เส้นทาง คือ รังสิต-คลองสี่ และ วัดเขียนเขต-สวนสัตว์คลองหก
  • • งบประมาณลงทุน 26,000 ล้านบาท
  • • คาดว่าจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จสิ้นในปีนี้
  • • เตรียมรายละเอียดการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP)
  • • คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2571 และเปิดให้บริการในปี 2575


"คำรณวิทย์" เปิดผลศึกษา "โมโนเรลปทุมธานี" แก้ปัญหาจราจร นำร่อง 2 เส้นทาง 'รังสิต-คลองสี่, วัดเขียนเขต-สวนสัตว์คลองหก' ลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท คาดปีนี้ศึกษา EIA จบ เตรียมรายละเอียด PPP คาดก่อสร้างปี 71 เปิดบริการปี 75

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนงานโครงการระบบขนส่งมวลชนโมโนเรล จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนชาวปทุมธานี เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดที่มีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ตลอดจนเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้า การศึกษา และการคมนาคมระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจรติดขัด และปัญหามลพิษจากฝุ่นเมือง PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับตัวแทนมหาวิทยาลัยชั้นนำ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานร่วมกันแถลงถึงการดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี (โมโนเรลปทุมธานี-รังสิต) 3 ประเด็นหลัก คือ

1. ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเงิน
2. การออกแบบกรอบรายละเอียด ประมาณราคาค่าก่อสร้าง จัดทำแผนงานก่อสร้าง และจัดทำเอกสารประกวดราคา
3. ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งในปัจจุบันการศึกษาทั้ง 3 ประเด็นแล้วเสร็จ

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าจังหวัดปทุมธานีมีแนวเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด 5 เส้นทาง ระบบขนส่งที่เหมาะสมที่สุดคือ ระบบรถไฟฟ้าทางเดี่ยว (Monorail) เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการก่อสร้าง ใช้พื้นที่น้อย ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี

โดยวางแผนให้มีการก่อสร้างเป็นระยะทั้งสิ้น 3 ระยะ กำหนดเส้นทางนำร่องที่มีศักยภาพในการดำเนินการ 2 เส้นทาง รวมระยะทาง 24.09 กิโลเมตร ได้แก่

1.เส้นทางรังสิต-วัดเขียนเขต-คลองสี่ ระยะทางทั้งสิ้น 16.66 กิโลเมตร 12 สถานี (A4-A12) จุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) ผ่านศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต-วิ่งตัดเข้าถนนรังสิตนครนายก-เลี้ยวเข้าถนนลำลูกกาคลองสี่ (ปท.30197)-สิ้นสุดทางที่ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สถานีคลองสี่)

2.เส้นทางวัดเขียนเขต-สถานีสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) ระยะทาง 7.43 กิโลเมตร 6 สถานี (B1-B6) จุดเริ่มต้นที่วัดเขียนเขต (ถนนรังสิต-นครนายก)-วิ่งไปสิ้นสุดที่สถานีสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก)

ทั้ง 2 แนวเส้นทางจะมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณศูนย์วิจัยข้าว จุดจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณสถานีสวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) และจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีวัดเขียนเขต (สถานี A6/สถานี B1) ซึ่งโครงสร้างส่วนใหญ่วางบนเกาะกลางถนนรังสิตนครนายก และถนนลำลูกกาคลองสี่ (ปท.3017) คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2575 ทั้งสองเส้นทาง อยู่ที่ 79,234 คน/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,332 คน/วัน ในปี พ.ศ. 2604 โดยประเมินอัตราค่าโดยสารที่ 20 บาทตลอดสาย


@เปิดค่าลงทุน 2 เส้นทางรวม 26,000 ล้านบาท

จากการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ มูลค่าลงทุนโครงการรถไฟฟ้าทางเดี่ยว 2 เส้นทางในจังหวัดปทุมธานี ประมาณ 26,000 ล้านบาท มีผลวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ 15.49% และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.41 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีเป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย และหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม เช่น พัฒนาพื้นที่รอบสถานี พื้นที่ใกล้เคียง ให้สิทธิ์เชื่อมต่อสถานี เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการลงทุนและให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในสัดส่วนที่น้อยกว่าโครงการรถไฟฟ้าอื่น

@ศึกษา EIA จบปี 68 ก่อนเดินหน้า ศึกษา PPP ต่อ

“แผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าทางเดี่ยว (Monorail) ปทุมธานี ระยะที่ 1 เส้นทางรังสิต-คลองสี่ และเส้นทางวัดเขียนเขต-สวนสัตว์แห่งใหม่ (คลองหก) จะมีการนำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ภายในปีนี้ จะมีการจัดทำรายงานและการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) ภายในปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2571 เพื่อเปิดใช้งานในปี 2575” พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าว

หากโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้การเดินทางของประชาชนในพื้นที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ช่วยลดเวลาการเดินทาง ช่วยประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะและลดค่าใช้จ่ายทำให้การใช้ชีวิตในปทุมธานีสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของปทุมธานี ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนในพื้นที่ ทำให้จังหวัดปทุมธานีเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น