- • เจน Z ช่วยกระตุ้นตลาดมังงะให้กลับมาเติบโต
- • นิยายอีบุ๊คขายดี โดยเฉพาะแนว "บอยเลิฟ-เกิร์ลเลิฟ" เป็นกลุ่มหลัก
- • ตลาดหนังสือโดยรวมเติบโต 10-15% มูลค่าประมาณ 16,000-17,000 ล้านบาท
ผู้จัดการรายวัน 360 - จับตาเจน Z ผู้เข้ามาปลุกกระแสหนังสือการ์ตูนมังงะให้กลับมาคึกคักดังอดีต ไล่บี้นิยายอีบุ๊คที่ขายดีและตอบโจทย์ผู้ใหญ่มากกว่า ชี้นิยาย “บอยเลิฟ-เกิร์ลเลิฟ” ครองบัลลังก์พาภาพรวมตลาดหนังสือโตอีก 10-15% สู่ 16,000-17,000 ล้านบาทในปีนี้ ล่าสุด PUBAT จัดใหญ่ “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53” คาดมีผู้เข้าร่วมงาน 1.3 ล้านคน ยอดขายสะพัด 420 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นอีก 10% จากปีก่อน
นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า ทิศทางของภาพรวมตลาดหนังสือมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% ต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีมานี้ เห็นได้จากปี 2566 มีมูลค่าอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท มาในปี 2567 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ล้านบาท และในปี 2568 นี้ มั่นใจว่าภาพรวมตลาดหนังสือจะกลับมาเติบโตได้สูงอีกครั้ง ไม่ต่ำกว่า 10% หรือน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 16,000-17,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
ปัจจัยสำคัญที่เชื่อว่าตลาดหนังสือจะกลับมาคึกคักนั้น เนื่องจากพบว่า นักอ่านกลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มเจน Z หันมาอ่านหนังสือการ์ตูนมังงะในแบบรูปเล่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อเจาะลึกลงไปยังพบเพิ่มว่า หนังสือการ์ตูนมังงะเหล่านี้ จะต้องมีขนาด B5 และมีจำนวนหน้าไม่เกิน 200 หน้า ซึ่งเป็นไซส์ที่เล็กลง ตอบสนองความสะดวกของการอ่าน และใช้เพียงมือเดียวในการเปลี่ยนหน้า จากปกติจะเป็นไซส์ A5 ซึ่งเห็นชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เจน Z กลายเป็นนักอ่านกลุ่มใหญ่สุดแทนที่กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานไปแล้ว จากเดิมมีสัดส่วน 49% เพิ่มเป็น 69% ในปีที่ผ่านมา และกลุ่มผู้ใหญ่หล่นอยู่ในอันดับ 2 แทน ตามมาคือกลุ่มเด็กเล็ก เป็นต้น
“แม้เทรนด์หนังสือออนไลน์หรืออีบุ๊ค จะเป็นที่คุ้นเคยของนักอ่าน จนกลายเป็นยอดขายหลักสัดส่วนกว่า 60% ของภาพรวมตลาดหนังสือ และแบบรูปเล่มอยู่ที่ 40% แต่เชื่อว่าหนังสือแบบรูปเล่มไม่มีวันตาย เห็นได้จากกลุ่มเจน Z ที่ควรจะชื่นชอบการอ่านอีบุ๊คแต่กลับโหยหาการอ่านแบบรูปเล่มแทน แต่ขนาดหนังสือก็ต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันมากขึ้น เห็นได้จากเทรนด์หนังสือมังงะขนาด B5 ที่กำลังเป็นที่นิยมของเจน Z ในขณะนี้ ซึ่งสวนทางกับกลุ่มผู้ใหญ่ที่ควรจะชื่นชอบการอ่านหนังสือแบบรูปเล่ม แต่กลับนิยมอ่านแบบอีบุ๊คมากกว่า เหตุผลสำคัญเป็นเพราะอีบุ๊คสะดวกต่อการอ่าน สามารถขยายตัวหนังสือได้นั้นเอง”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดหนังสือมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ในมุมของสำนักพิมพ์ จากเดิมการออกหนังสือใหม่ 1 เรื่อง จะต้องสั่งตีพิมพ์ร่วม 3,000 เล่มก่อนในครั้งแรก แต่ปัจจุบันจะทำการพรีออเดอร์ก่อนแล้วจึงสั่งตีพิมพ์ เช่น ยอดพรีออเดอร์ 2,000 เล่ม จะตีพิมพ์ที่ 3,000 เล่ม หรือสั่งพิมพ์เพิ่มจากยอดพรีออเดอร์ 30% จะเห็นได้ว่าจำนวนพิมพ์ลดลงตามพฤติกรรมผู้อ่าน และบวกกับต้นทุนของกระดาษและสีในการพิมพ์สูงขึ้นทุกปี เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังสือมีราคาแพงขึ้นส่งผลให้อีบุ๊คเป็นอีกทางเลือกเข้ามาทดแทน ทำให้โมเดลการขายหนังสือในวันนี้มี 2 ช่องทาง คือ ร้านหนังสือและออนไลน์
ขณะที่หนังสือจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.แบบรูปเล่ม และ 2.อีบุ๊ค ส่งผลให้ยอดขายหลักของตลาดหนังสือมาจากออนไลน์/อีบุ๊ค 60% และหน้าร้าน 40% และ 3 แพลตฟอร์มอีบุ๊คที่ทำรายได้สูงสุด คือ 1.MEB 2.pintobook 3.Mareads
สำหรับเทรนด์การเติบโตของภาพรวมตลาดหนังสือในปีนี้ยังคงเป็น 1 .นิยายบอยเลิฟ และเกิร์ลเลิฟ ทั้งแบบแปลจากต่างประเทศ และของนักเขียนคนไทย 2.หนังสือการ์ตูนมังงะ ขณะที่ 5 อันดับหนังสือที่ขายดีสุด คือ นวนิยาย, การ์ตูนมังงะ, ฮาวทู/ฮีลใจ, แบบเรียน และหนังสือเด็กเล็ก
นายสุวิช กล่าวต่อว่า แม้ยอดขายหนังสือจะมาจากอีบุ๊คเป็นหลัก แต่หนังสือรูปเล่มก็ยังไปได้ดีอยู่ เห็นได้จากทุกครั้งที่มีการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติขึ้น จำนวนสำนักพิมพ์/ผู้ร่วมออกบูท พื้นที่การจัดงาน และยอดขายภายในงานจะเติบโตขึ้นทุกครั้ง เช่นเดียวกับแผนการจัดงาน "งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23" ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 7 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา เวลา 10.00 - 21.00น. ณ ฮอลล์ 5 - 8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มั่นใจว่าจะผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.3 ล้านคน และมียอดขายกว่า 420 ล้านบาท
สำหรับ "งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23" นี้ ถือเป็นงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มาในธีม "ย ยักษ์ อ่านใหญ่" งานหนังสือครั้งใหม่ ใหญ่กว่าเดิม พบกับ 7 โซนหนังสือดีที่น่าอ่าน ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมกว่า 1,200 บูธ จาก 400 สำนักพิมพ์ พร้อมขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 20,000 ตร.ม. ภายในงารจะมีการจัดนิทรรศการและกิจกรรมกว่า 100 อีเว้นท์และยังมี "Bangkok Rights Fair 2025" งานเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์กับ 115 บริษัทจาก 14 ประเทศและเขตแดนอีกด้วย นอกจากนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่จะมี PUBAT Cafe จิบกาแฟหอมกรุ่น จากร้านดัง และบริการนวดแผนไทยภายในงานอีกด้วย.