การตลาด – อุตสาหกรรมท่องเที่่ยวของไทยพุ่งไม่หยุด ส่งผลบวกธุรกิจเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงแรมคึกคัก สามเชนยักษ์ใหญ่ของไทยดาหน้างัดแผนลงทุนเต็มที่ รับตลาดนักท่องเที่ยวหลั่งไหลฟื้นตัวทั่วโลก เปิดแผน 3 เชนยักษ์ “เซ็นทารา-ไมเนอร์-ดุสิตธานี” ใส่เกียร์เร่งเต็มอัตราศึก
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่ทำรายได้ให้กับประเทศติดอันดับต้นๆและประเทศไทยก็มีผู้ประกอบการเชนโรงแรมรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เชนที่เป็นผู้นำในตลาดไทยและยังมีบทบาทในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่า หนีไม่พ้น กลุ่มเซ็นทารา กลุ่มไมเนอร์ และกลุ่มดุสิตธานี
แค่ 3 ค่ายนี้ก็สร้างรายได้รวมในปี 2567 ไปแล้วรวมกันมากกว่า 187,728 ล้านบาท (เซ็นทารารายได้รวมอยู่ที่ 11,162 ล้านบาท, ไมเนอร์ รายได้รวม 165,362.27ล้านบาท และดุสิต รายได้รวม 11,204 ล้านบาท)
ขณะที่กำไรก็กอบโกยไปรวมกันมากกว่า 9,000 ล้านบาทแล้ว
เนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยเริ่มดีวันดีคืน ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว หลังจากเผชิญกับโควิด-19 มาหลายปี
ทั้งนี้ สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยตลอดปี 2567 มีจำนวนรวม 35.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.27% เทียบกับปี2566 และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับปี 2566
ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวในประเทศตลอดปี 2567 มีจำนวนรวม 198.69 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 7.02% เทียบกับปีที่แล้ว สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 9.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.03% เทียบกับปีที่แล้ว
เมื่อรวมรายได้จากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้ว ทำให้ตลอดปี 2567 ประเทศไทยมีรายได้รวมการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.62 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งตั้งไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท
ขณะที่ปี 2568 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไว้ที่ 40 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.98–2.23 ล้านล้านบาท มากที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากปี 2562 ที่มีต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 39.5 ล้านคน
สถานการณ์ล่าสุด ตั้แต่วันที่ 1 มกราคม - 2 มีนาคม 2568 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยสะสมแล้วกว่า 7 ล้านคน คือ7,021,344 คน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 343,405 ล้านบาท
ด้วยแนวโน้มที่ดีนี้เอง ทำให้ 3 เชนยักษ์ใหญ่ของไทย ต่างก็มีแผนลงทุน เพื่อสร้างเครือข่ายโรงแรมที่พัก ทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวนี้เต็มที่
*** “เซ็นทารา” วางเป้ารายได้ปีนี้ที่ 15,000 ล้านบาท
นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเรา กล่าวว่า แผนธุรกิจของบริษัทในปี 2568 นี้ จะต้องทำรายได้รวมประมาณ 15,000 ล้านบาท (รวมโรงแรมที่เซ็นทาราร่วมทุนด้วย ) เติบโต 23% โดยมองพื้นที่การลงทุนไปยังพื้นที่ใหม่ๆที่เป็นจุดหมายในการเดินทางท่องเที่ยว ที่เซ็นทารา ยังไม่เคยเข้าไปลงทุน หรือยังมีน้อยแต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อินโดนีเซีย เนปาล เป็นต้น
ปีนี้จะเปิดโรงแรมและรีสอร์ทอีก 9 แห่ง โดยหลังจากที่จะเปิดให้บริการโรงแรมในกระแส อย่างเซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์ (ให้บริการห้องพัก 142 ห้อง) ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้แล้ว ยังมีโรงแรมในต่างประเทศอีก 4 แห่ง ต่อคิวเพื่อรอเปิดให้บริการอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อันนะปุรณะ เมาท์เทน รีสอร์ท และโรงแรมภายใต้แบรนด์เดอะ เซ็นทารา คอลเลคชั่น (The Centara Collection) อีกหนึ่งแห่งบนเกาะบาหลี ที่จะกลายมาเป็นรีสอร์ทแรกภายใต้เครือเซ็นทาราในประเทศเนปาลและอินโดนีเซีย รวมถึงโรงแรมใหม่อีก 2 แห่งในเวียดนาม ได้แก่ โรงแรมเซ็นทารา และเรสซิเดนซ์ วังดอน และคริสตัล ฮอลิเดย์ ฮาร์เบอร์ วังดอน ที่เมื่อรวมกันแล้วจะมีห้องพักให้บริการทั้งสิ้นถึง 977 ห้องด้วยกัน
ล่าสุดได้เปิดให้บริการเซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์ รีสอร์ทธีมดินแดนใต้น้ำสุดมหัศจรรย์ บนเกาะสวรรค์ในพื้นที่มาเล่ อะทอลล์เหนือ หนึ่งในเกาะในกลุ่มมัลดีฟส์อันสวยงามไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และกำลังจะเปิดให้บริการเซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์ รีสอร์ทหรูเพื่อการพักผ่อนแบบเหนือระดับบนเกาะเดียวกันในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งนั่นจะทำให้เซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ทในมัลดีฟส์รวมกันทั้งสิ้น 4 โรงแรม ภายใต้แบรนด์และธีมที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ แบรนด์เซ็นทารา (Centara), แบรนด์เซ็นทารา แกรนด์ (Centara Grand), แบรนด์เดอะ เซ็นทารา คอลเลคชั่น (The Centara Collection) และรีสอร์ทภายใต้ธีมมิราจ เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้าในตลาดมัลดีฟส์
เซ็นทาราได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ ตลอดช่วงไม่กี่ปีมานี้ เช่น แบรนด์สุดหรูอย่างเซ็นทารา รีเซิร์ฟ (Centara Reserve) และแบรนด์ไลฟ์สไตล์อย่างเซ็นทารา ไลฟ์ (Centara Life) โดยเดือนมกราคมปีนี้ เซ็นทาราได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่อีกแบรนด์ คือ เดอะ เซ็นทารา คอลเลคชั่น (The Centara Collection) ที่นำเสนอโรงแรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตนอย่างแตกต่าง ผ่านดีไซน์ มนต์เสน่ห์ท้องถิ่น โดยปัจจุบันมีโรงแรมภายใต้แบรนด์นี้ทั้งหมด 3 โรงแรม คือ มัชชาฟูชิ ไอส์แลนด์ รีสอร์ทและสปา มัลดีฟส์, รุกข์ คีรี เขาใหญ่ และวารีวาน่า รีสอร์ท เกาะพะงัน ซึ่งเซ็นทารามีแผนจะขยายโรงแรมแบรนด์นี้เพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนั้น ในปี 2567 ที่ผ่านมา เซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และเซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นอีกสองโรงแรมแฟล็คชิพของเครือเซ็นทาราในประเทศไทย ก็ยังได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังปิดปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่
เซ็นทารายังมีแผนปรับโฉมโรงแรมอีกสองแห่งในประเทศในปีนี้ คือ เซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลล่า หัวหิน ทยอยปิดปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเพื่อสร้างเป็นห้องพักวิลล่าสุดหรูอีก 70 หลัง ภายใต้แบรนด์ เดอะ เซ็นทารา คอลเลคชั่น ผนวกเข้ากับห้องพักที่จะสร้างใหม่อีก 200 ห้อง ภายใต้แบรนด์เซ็นทารา ไลฟ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำเซ็นทารามีห้องพักกว่า 484 ห้องให้บริการภายใต้แบรนด์ที่หลากหลาย
รวมทั้งเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลล่า กระบี่ รีสอร์ทที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งส่วนตัวจะปิดปรับปรุงปีนี้ด้วย ตั้งเป้าให้กลายมาเป็นเซ็นทารา รีเซิร์ฟ โรงแรมหรูระดับลักชัวรีแห่งที่สองของโลก
ทั้งนี้ การเปิดให้บริการโรงแรมใหม่และการปรับโฉมโรงแรมต่างๆ ในปีนี้ เซ็นทาราคาดว่าจะช่วยส่งผลให้ราคาห้องพักเฉลี่ย และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) ของเซ็นทาราเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ารายได้รวม (รวมโรงแรมร่วมทุน) จะเติบโตประมาณ 23% ในปีนี้
ปัจจุบัน เซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ทในเครือทั้งหมด 51 แห่ง รวมห้องพักกว่า 10,182 ห้อง อยูู่ในอันดับที่ 111 ของโลก โดยตั้งเป้าหมายที่่จะขยายเครือข่ายให้ครบ 20,000 ห้องภายในปี 2570 เพื่อก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 100 ของโลก
สำหรับปี2567 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกปีแห่งความสำเร็จของเซ็นทารา โดยโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารามีรายได้รวมอยู่ที่ 11,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,230 ล้านบาท (หรือ 12%) เทียบปีก่อน มีกำไรสุทธิจำนวน 1,097 ล้านบาท เติบโต 43% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของผลการดำเนินงานของรีสอร์ทในมัลดีฟส์
*** “ไมเนอร์” เน้นกลยุทธ์ Asset-light Model
นายดิลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) ว่า แผนการลงทุนในช่วง 3-5 ปีนี้ บริษัทจะขยายธุรกิจโรงแรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายจากเดิมที่มีปริมาณ 562 โรงแรมในปี 2567 ขยายเพิ่มเป็น 850 แห่ง ภายในปี 2570 และมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มเป็น 1,000 แห่ง ภายในปี 2572
ทั้งนี้การขยายเครือข่ายโรงแรมจะใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เรียกว่า โมเดลที่เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Asset-light Model) หรือการเข้ารับบริหารโรงแรมให้กับเจ้าของโรงแรมเป็นหลักในการเพิ่มพอร์ตโฟลิโอในธุรกิจโรงแรมกว่า 80% ซึ่งเป็นแนวทางที่ไมเนอร์ใช้มาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ
โดย 80% เป็นการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ภายใต้โมเดลธุรกิจที่ลดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Asset-light Model) หรือเป็นการเข้ารับบริหารโรงแรมให้กับเจ้าของโรงแรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการขยายไปในประเทศเป้าหมายคือ อเมริกา เม็กซิโก แอฟริกา เติร์ก โปรตุเกส ตะวันออกกลาง เป็นต้น
หรือแม้่แต่ ซาอุดิอาระเบีย บาร์เรน การ์ต้า โอมาน อินเดีย ตลอดจนญี่ปุ่น และสิงคโปร์ รวมถึงเป้าหมายในการขยายธุรกิจร้านอาหารให้ได้มากกว่า 4,500 แห่งทั่วโลก ภายในปี 2572 จากปัจจุบันมีทั้งหมด 2,699 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมาย 3 ปีอัตราการเติบโตของรายได้ต่อปีเฉลี่ยปีละ 9%,การเติบโตของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่ปีละ 15-20% โดยปีที่แล้วทำได้ 18%, อัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนมากกว่า 12% ซึ่งปีที่ผ่านมาทำได้ 10.5%
สำหรับในปี 2568 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่แข็งแกร่งของบริษัท โดยใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากซีรีส์เรื่อง The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มออกอากาศในอเมริกา ทาง HBO และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “Max”
ส่วนโรงแรมใหม่ๆที่จะทยอยเปิดในปีนี้เช่น โรงแรมทิโวลี คอปเก ปอร์โต ไกอาตั้งอยู่บนเนินเขาไกอา ประเทศโปรตุเกส, โรงแรม นาว โรม ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งที่ 10 ของแบรนด์ นาว แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของ ไมเนอร์ในยุโรป, โรงแรม อวานีพลัส บาร์บารอน เซเชลส์ รีสอร์ท ในมหาสมุทรอินเดีย, โรงแรมอนันตรา คาฟิว ริเวอร์ แซมเบีย เต็นท์ แคมป์, โรงแรมเอ็นเอช คอลเลคชั่น มัลดีฟส์ รีธิ รีสอร์ท หลังจากการปิดปรับปรุงกว่า 6 เดือน นับเป็นโรงแรมเรือธงแห่งที่ 2 ของเอ็นเอช คอลเลกชั่น บนหมู่เกาะแห่งนี้ เป็นต้น
ในปีที่แล้ว MINT ยังคงขยายธุรกิจเชิงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโรงแรมใหม่ 30 แห่งที่มีห้องพักกว่า 3,000 ห้องในปี 2567 ภายใต้โมเดลธุรกิจ Asset-light Model เป็นหลัก
ปัจจุบัน ไมเนอร์ มีโรงแรมและรีสอร์ทมากกว่า 560 แห่งทั่วโลก มีห้องพักกว่า 81,000 ห้อง ซึ่งใน พอร์ตโฟลิโอของเครือไมเนอร์ตั้งอยู่ในยุโรปเป็นหลักมากกว่า 50%
ผลประกอบการไตรมาสสี่ปี2567 ไมเนอร์ทำกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น269% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 3,632 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2567 มีกำไรสุทธิ 7,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรประมาณ 5,407 ล้านบาท ส่วนรายได้ปี 2567 มีประมาณ 166,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
*** “ดุสิตธานี” ปลดล็อกมูลค่าการลงทุน
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT กล่าวว่า ปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปลดล็อคมูลค่าลงทุน ตามแผนกลยุทธ์เพื่อการสร้างความเติบโตในระยะยาว บริษัทฯ จะเดินหน้าพลิกฟื้นธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ แม้ว่า จะยังมีภาระดอกเบี้ยจากการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่เป็นปัจจัยหน่วงที่มีนัยสำคัญก็ตาม
ในส่วนของธุรกิจโรงแรมนั้น คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ประมาณ 15-18% จากปี 2567 (ไม่รวมรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ) โดยจะเน้นการขยายพอร์ตโรงแรมในรูปแบบรับจ้างบริหารจัดการ (Asset-light) เป็นโรงแรมเปิดใหม่ 5-7 แห่ง และคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาบริหารเพิ่ม 12-14 แห่ง
ส่วนธุรกิจอาหารซึ่งยังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี บริษัทฯ ประมาณการการเติบโตของรายได้ธุรกิจอาหารในปีนี้ไว้ที่ 20-25% โดยมีแผนขยายแฟรนไชส์บองชูเบเกอรี่ เพิ่ม 12-15 สาขา รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น Green House เพื่อขยายตลาด พร้อมกันนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะนำธุรกิจอาหารเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย
ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า จะสามารถขับเคลื่อนมูลค่า โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จากการเปิดให้บริการในส่วนของอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าได้ในครึ่งหลังของปี 2568 และเริ่มทยอยโอนโครงการพักอาศัยดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต พาร์คไซด์ ในช่วงปลายปีนี้ โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 95% ของพื้นที่ขาย
ส่วนผลประกอบการไตรมาสที่ 4 (ตุลาคมถึงธันวาคม) ปี 2567 ของกลุ่มดุสิตธานี บริษัทฯ มีรายได้รวม 6,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224% กำไรสุทธิอยู่ที่ 310 ล้านบาท พลิกจากที่เคยขาดทุนในงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 146 ล้านบาท (YoY) และจากที่เคยขาดทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ที่ 538 ล้านบาท (QoQ)
สำหรับผลประกอบการงวด 1 ปี (มกราคมถึงธันวาคม) ปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 11,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 โดย EBITDA อยู่ที่ 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.4% และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 237 ล้านบาท ลดลงจากผลขาดทุน 570 ล้านบาทในปีก่อน
“ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มดุสิตธานีเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราสามารถพลิกผลขาดทุนให้กลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการส่งมอบงานก่อสร้างพื้นที่อาคารค้าปลีก (Bare Shell) ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค รายได้จากช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงแรมที่มีลูกค้าทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่รับรู้รายได้เต็มไตรมาส หลังจากเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารเติบโตได้อย่างน่าพอใจ จากการขยายตลาดและการเพิ่มลูกค้าใหม่ของบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (Epicure) และบองชู เบเกอรี่ (Bonjour Bakery)” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว
ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของผลประกอบการในปี 2567 ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของแผนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน 3 ประการของกลุ่มดุสิตธานี ได้แก่ สร้างสมดุล สร้างการเติบโต และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจอาหาร รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์