กพร.เซ็นเอ็มโอยู “เอสซีไอ อีโค่ฯ”ในเครือ SCG ต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาซากแผงโซลาร์ฯนับแสนตันในอนาคต
นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การวิจัยและพัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือสิ้นอายุ ระหว่าง กพร. กับ บริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จํากัดในเครือ SCGว่า กพร. ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลขยะหรือของเสียทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อแยกสกัดแร่และโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมถึงแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน
ที่ผ่านมา กพร. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องและได้พัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต้นแบบกระบวนการคัดแยกทางกายภาพสำหรับซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผ่านกระบวนการทางความร้อนเครื่องแรกในไทย
สำหรับบริษัท เอสซีไอ อีโค่ ฯ เป็นผู้ประกอบการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยนำกากอุตสาหกรรมไปเผาร่วมกับการผลิตปูนซีเมนต์ (Co-Processing) เป็นเจ้าแรกของไทย ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้ เพื่อเดินหน้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างครบวงจร และผลักดันสู่การประยุกต์ใช้จริงในเชิงพาณิชย์ โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือสิ้นอายุแบบครบวงจร เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ กพร. ได้พัฒนาขึ้นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและขยายผลการใช้เทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์
“ความร่วมมือระหว่าง กพร. และ เอสซีไอ อีโค่ฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบอุตสาหกรรมรีไซเคิลของประเทศไทย และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาซากเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศที่มีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นในทุกปี คาดว่าในปี2585 ประเทศไทยจะมีขยะจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมไม่น้อยกว่า 5 แสนตัน ดังนั้น เทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ จะเป็นต้นแบบของไทยที่จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือสิ้นอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร”