ผู้จัดการรายวัน 360 - “โคเวย์” พร้อมดันไทยสู่อันดับ 2 ที่ทำรายได้สูงสุด รองจากเกาหลีใต้ ล่าสุดส่งมือดี “คิ รยง ซอย” นำทัพสู่ความเป็นเบอร์ 1 แบรนด์ Subscription ในไทยอย่างแท้จริง เปิดเกมส์ลุยเตรียมปล่อย “เก้าอี้นวด” เป็นสินค้าตัวที่ 3 โกยรายได้ในระบบ Subscription มั่นใจปีนี้เติบโต 20% ลั่นต้องมีสมาชิกให้ได้ 1 ล้านรายให้เร็วที่สุด และตลอดการทำงานในไทย เป้าหมายสมาชิกต้องได้ 5 ล้านราย
นายคิ รยง ซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) โคเวย์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า การเข้ามาทำหน้าที่ในไทยครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะไทยกำลังมีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ทำให้ช่วงม.ค. ที่ผ่านมา ยอดขายเครื่องฟอกอากาศเติบโตสูงสุดตั้งแต่ดำเนินการมา ซึ่งการมาดูแลตลาดไทยครั้งนี้ เพราะทางเกาหลีเล็งเห็นศักยภาพของตลาดไทย ที่จะผลักดันให้มียอดขายขึ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากเกาหลีใต้ จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 3 ต่อจากมาเลเซีย โดยปัจจุบันตลาดมาเลเซีย โคเวย์ครองอันดับ 1 ในตลาด Subscription ด้วยฐานสมาชิกกว่า 3 ล้านราย ภายใต้การผลักดันของ นายคิ รยง ซอย การเข้ามาในตำแหน่งในไทยครั้งนี้ จึงมีนัยยะสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ Subscription Service ให้แข็งแกร่ง เร่งขยายฐานลูกค้า และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
“โคเวย์เล็งเห็นว่า ไทยเป็นหนึ่งในตลาดศักยภาพสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากที่ตนยังเป็น CEO ของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยแล้ว การมาดูแลตลาดไทยครั้งนี้ เชื่อมั่นได้ว่า ไทยเป็นตลาดสำคัญของโคเวย์ที่มีโอกาสสูงในการทำรายได้รองจากเกาหลี ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของโคเวย์สามารถขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องผลักดันให้โคเวย์มีสมาชิกเป็น 1 ล้านรายให้เร็วที่สุด จากปัจจุบันมี 3 แสนราย และตลอดระยะเวลาที่ดูแลตลาดในไทย จะต้องเพิ่มสมาชิกให้ถึง 5 ล้านรายให้ได้“ นายคิ รยง ซอย กล่าว
โดยการเข้ามาทำงานในไทยครั้งนี้ จะมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การพัฒนา โมเดล Subscription ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยปรับปรุงระบบบริการสมัครสมาชิกให้เข้าถึงง่ายขึ้น พร้อมขยายเครือข่าย CODY Service ซึ่งเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการหลังการขายของโคเวย์ ที่จะช่วยให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น 2.กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลและอีคอมเมิร์ช ขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มยอดมากขึ้น รวมถึงใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไทย ในการสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ 3.การดำเนินโครงการเพื่อสังคม เช่น แผนจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น Happy Water Project ที่ช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และโครงการด้านสุขภาพอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทย
โคเวย์ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องกรองน้ำและเครื่องฟอกอากาศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมแนวคิด Smart & Sustainable Growth
นายคิ รยง ซอย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามหลังจากที่โคเวย์ได้รุกทำการตลาดและปรับโมเดลธุรกิจสู่รูปแบบ Subscription Service ในไทยมา 4-5 ปี ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายในรูปแบบ Subscription Service 2 รายการ คือ เครื่องกรองน้ำ 70% และเครื่องฟอกอากาศ 40% เฉลี่ยค่าบริการเริ่มต้น 450 บาทต่อเดือน ไปจนถึง 1,390 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและฟังก์ชั่น และมีแพกเกจโปรโมชั่นสำหรับรับบริการทั้ง 2 สินค้าในราคาพิเศษด้วย ซึ่งมีจำนวนสมาชิกรวมกว่า 3 แสนราย
ในเรื่องของหนี้เสีย ผิดสัญญา หรือยกเลิกใช้บริการนั้น มีเพียง 0.5% ของจำนวนสมาชิกต่อปี และมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะโคเวย์เน้นกลุ่มที่มีบัตรเครดิตเป็นหลัก จากนี้จะเพิ่มช่องทางอื่นๆ เข้ามา เช่น การหักเงินเดือนอัตโนมัติ จากปัญหาการการปล่อยสินเชื่อยาก และกำลังซื้อที่หดตัว
ล่าสุดในช่วงเดือนเม.ย. นี้ โคเวย์ ยังเตรียมนำเสนอสินค้าใหม่ คือ เก้าอี้นวด เข้ามาทำตลาดในรูปแบบ Subscription Service เป็นรายการที่ 3 ส่วนราคาค่าบริการคาดว่าจะอยู่ในหลัก 1,000 บาทขึ้นไป อย่างในมาเลเซียอยู่ 1,300 บาท เป็นต้น มั่นใจว่าจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ผลักดันให้สิ้นปี 68 นี้ โคเวย์จะมียอดขายและสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 20% เท่ากัน จากปกติจะเติบโต 15%
อนึ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในรูปแบบ Subscription Service เป็นเรื่องใหม่ในไทย ซึ่งลูกค้าอายุ 40 ปีขึ้นไป เน้นซื้อขาดเป็นเจ้าของเองแต่อายุ 30-40ปี จะเปิดใจตอบรับ Subscription Service มากกว่า ซึ่งพบว่าในไทยมีเพียงแบรนด์เกาหลีที่เข้ามารุกในตลาดนี้ เช่น แอลจี กับผลิตภัณฑ์เครื่องกรองน้ำ โดยโมเดล Subscription Service ของแอลจีจะเน้นเรื่องการจ่ายรายเดือนเป็นหลัก แต่จุดแข็งของโคเวย์ จะมีเรื่องการดูแลบำรุงรักษาทุกๆ 2 เดือน เพิ่มเข้ามาด้วย
ปัจจุบัน โคเวย์ ทำการตลาดใน 60 ประเทศทั่วโลก มีสมาชิกรวมมากกว่าสิบล้านรายขึ้นไป อันดับ 1 คือ เกาหลี 7 ล้านราย 2.มาเลเซีย 3 ล้านราย 3.ไทย 3 แสนราย 4. USA 2-3 แสนราย ซึ่งโดยรวมมีสินค้าในรูปแบบ Subscription Service กว่า 8-10 รายการ เช่น เครื่องกรองน้ำ, เครื่องฟอกอากาศ, เตียงนวด, บิเด (Bidet), เครื่องกำจัดขยะเปียก เป็นต้น โดยประเทศเกาหลีคุ้นเคยกับระบบ Subscription Service มากที่สุด จนทำให้มีแนวคิดว่า ไม่มีใครคิดซื้อเครื่องกรอกน้ำเป็นของตัวเอง แต่มองเป็นบริการ Subscription Service กันหมด และ 3 สินค้าที่นิยมใช้บริการแบบ Subscription Service มากที่สุดในเกาหลี คือ เครื่องกรองน้ำ, บิเด และเครื่องฟอกอากาศ.