“สุรพงษ์” เปิดใช้”สกายวอล์ก”ทางเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองสถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) กับ ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน และช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า
วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2568) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดทางเชื่อมระหว่างศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ กับ รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) สถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) พร้อมด้วยนายมนตรี ตั้งเจริญถาวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน และนายพรต ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการสำนักปฏิบัติการ บริษัท ซีคอนดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมพิธี ณ บริเวณทางเข้า - ออกที่ 1 สถานีสวนหลวง ร.9 (YL15)
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเปิดให้บริการทางเชื่อมระหว่างศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ กับ รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง นับเป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อทำให้ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อจากสถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) ชั้น 2 ทางเข้า - ออกที่ 1 ไปยังชั้น 3 ของศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ และสถานที่ใกล้เคียงได้อย่างสะดวกสบาย
โดยสถานีสวนหลวง ร.9 มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ในช่วงก่อนเปิดทดลองใช้ทางเชื่อมจำนวน 3,073 คน - เที่ยว และเมื่อเปิดทดลองใช้ทางเชื่อมตั้งแต่วันที่ 14 - 19 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่า มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 3,203 คน - เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.23 ซึ่งทางเชื่อมแห่งนี้มีระยะทางประมาณ 72.50 เมตร เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.30 - 21.30 น. และวันเสาร์ - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.30 น.
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเข้ากับระบบคมนาคมขนส่งอื่นๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับสถานที่อื่นที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเลือกใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรและลดมลภาวะทางอากาศ ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน สอดคล้องตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย”