xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จแล้ว! ขยาย 4 เลน ถนน "ปท.3004" ลำลูกกา คลอง 7 เชื่อม ทล.305

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • โครงการนี้ช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่
  • • เสริมสร้างระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • • รองรับการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจการขนส่งในอนาคต


“กรมทางหลวงชนบท” ขยายถนน 4 เลน สาย ปท.3004 ลำลูกกา คลอง 7 จ.ปทุมธานี เสร็จสมบูรณ์ แก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น เสริมระบบโลจิสติกส์ให้มีความสมบูรณ์ พร้อมรองรับการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจการขนส่งในอนาคต

นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย ปท.3004 แยก ทล.305-บ้านลำลูกกา อำเภอธัญบุรี, ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ขยายผิวจราจรจากเดิม 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร รวมระยะทาง 10.408 กิโลเมตร

ทั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินโครงการ เนื่องจากเดิมการจราจรบนถนนทางหลวงชนบทสาย ปท.3004 (ลำลูกกา คลอง 7) จังหวัดปทุมธานี มีปริมาณหนาแน่นมากถึง 18,000 กว่าคันต่อวัน และเป็นถนนที่เชื่อมระหว่าง ทล.305 และ ทล.3312 ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง การขยายผิวจราจรเป็น 4 เลน บนถนนทางหลวงชนบทสาย ปท.3004 แยก ทล.305-บ้านลำลูกกา อำเภอธัญบุรี, ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเสริมระบบขนส่งโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รองรับการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจการขนส่งในอนาคต


โครงการมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ กม.ที่ 0+000 บริเวณ ทล.305 (กม.ที่ 15+650) ถึง กม.ที่ 10+408 บริเวณ ทล.3312 (กม.ที่ 15+500) ซึ่งเชื่อมระหว่างถนนรังสิต-นครนายก (ทล.305) กับถนนลำลูกกา (ทล.3312) โดยก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต สำหรับบริเวณทางแยกก่อสร้างเป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเกาะกลางและทางเท้า พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย รวมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์ จำนวน 1 แห่ง และก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม จำนวน 4 แห่ง โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 561.2 ล้านบาท


ปัจจุบัน ทช.ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้บริการประชาชนใช้สัญจรเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งช่วยในการบรรเทาปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของเมือง ช่วยให้การเดินทางเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา ตลอดจนเชื่อมโยงโครงข่ายถนนในพื้นที่และการขนส่งโลจิสติกส์ให้มีความสมบูรณ์ อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง และยกระดับความปลอดภัย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในการเดินทางให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทางได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น