กทม.พร้อมร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ปัดแก้สัญญาสัมปทานสีเขียวกับ “บีทีเอส” ชี้เงื่อนไข-ต้นทุนต่างกัน รอกรุงเทพธนาคมตรวจสอบตัวเลข ให้รัฐบาลกลางชดเชย
รายงานข่าว แจ้งว่า จากกรณีที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบาย ให้แก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทาง โดยต้องมีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์กับเอกชนใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์กับภาครัฐเพิ่มตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มจากการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าภายใต้การกํากับของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีจำนวน 3 สัญญา คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมขนส่งทางราง (ขร.) จัดทําข้อกําหนดทางธุรกิจ (Business Rule) เช่น เงื่อนไขการเดินทาง การคิดอัตราค่าโดยสาร การจัดแบ่งและชดเชยรายได้ และแหล่งเงินชดเชย เป็นต้น และระยะต่อไป รฟม. จะเข้าเจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน
โดยคาดว่าภายในเดือนสิงหาคม 2568 จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้น รฟม. จะดำเนินการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ดังนั้นกระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จทั้งหมด ก่อนที่มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเริ่มภายในช่วงเดือนกันยายน 2568 นั้น
รายงานข่าวระบุว่า ในส่วนของ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ทำสัญญาสัมปทานกับทาง กรุงเทพมหานคร(กทม.) นั้น กระทรวงคมนาคม จะมีหนังสือแจ้งนโยบายดังกล่าวไปยังกทม. เพื่อให้ร่วมดำเนินการ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทจะทำให้ผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30% เช่นกัน
ดังนั้น กระทรวงคมนาคมคาดหวังให้ผู้ว่าฯกทม.ไปเจรจากับ บีทีเอส ตามเงื่อนไขที่ระบุใน พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ส่วนรายละเอียด ทางกทม.อาจต้องพิจารณา เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนสัมปทาน ทางบีทีเอสเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหาร 100% ซึ่งต่างจากรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ที่รัฐลงทุนงานโยธา
ทั้งนี้ เมื่อเจรจาการปรับเปลี่ยนการแบ่งผลประโยชน์ ยุติ กทม.ต้องทำหนังสือรายงานไปยังคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานเพื่อดำเนินการตามนโยบาย 20 บาทของรัฐบาลต่อไป
@กทม.ยันไม่แก้สัญญาสัมปทาน
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมเคยแจ้งให้ทราบแล้วว่า จะทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายภายในเดือน ก.ย. 2568 โดยให้ กทม.แจ้งว่า จะดำเนินการเข้าร่วมนโยบายนี้อย่างไร ซึ่ง กทม.ยืนยันไปแล้วว่า การใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายของกระทรวงคมนาคม กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สามารถทำได้ แต่จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับตัวสัญญาสัมปทานเด็ดขาด และกทม.ยืนยันว่าจะไม่แก้สัญญาหรือทบทวนสัญญาสัมปทานใหม่แน่นอน
ดังนั้น หนทางที่จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมในมาตรการนี้ได้คือ รัฐบาลกลางจะต้องออกงบประมาณอุดหนุนชดเชยเท่านั้น
แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ไม่รวมส่วนต่อขยาย) อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย อยู่ที่ 33 บาท/คน โดยมีส่วนต่างที่รัฐบาลต้องอุดหนุน 13 บาท/คน ซึ่งหากเก็บราคาที่ถูกลง จะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ดังนั้น ตอนนี้ กทม.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่า หากเข้าร่วมมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทแล้ว จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเท่าไร และต้องหาเงินมาชดเชยเท่าไร
ส่วนโครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่งและช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - คูคตและช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ไม่นำมาคำนวนค่าโดยสาเรฉลี่ย เนื่องจาก ปัจจุบันส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.เก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนจริงอยู่แล้ว และมีผลดำเนินงานที่ขาดทุน
ดังนั้นการที่กทม.เข้าร่วมมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จึงต้องมาคิดว่า รัฐบาลต้องชดเชยให้กทม.เท่าไรในส่วนนี้ เพราะต้นทุนเดินรถส่วนสัมปทานหลักและส่วนต่อขยายไม่เท่ากัน แต่มาตรการดังกล่าวมันจะต้องครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งได้มอบหมายให้บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ไปศึกษาตัวเลขที่ต้องชดเชยให้กทม. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยปัจจุบันรายได้การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนสัมปทานหลักอยู่ที่ 25 ล้านบาท/วัน
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี - คลองสาน นั้น ปัจจุบันกทม.เก็บค่าโดยสารที่ 16 บาทตลอดสาย เป็นราคาที่ต่ำมากอยู่แล้ว คงไม่จำเป็นต้องร่วมในมาตรการ 20 บาท แต่อย่างใด