- • ลงทุนตามมาตรการส่งเสริม HEV/MHEV ของ BOI
- • ตั้งเป้าผลิต 100,000 คันต่อปี
- • ย้ำความเป็นผู้นำของไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค
บีโอไอ เผยมาสด้า ประกาศแผนลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ตามมาตรการส่งเสริม HEV/MHEV ที่บอร์ดอีวีเห็นชอบหนุนไทยฐานผลิตรถยนต์ B-SUV ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี ตอกย้ำศักยภาพไทยเป็นผู้นำฐานผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคตทุกเซกเมนต์ของภูมิภาค
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 นายมาซาฮิโร โมโร President and CEO ของบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และประกาศแผนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้เครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี เพื่อส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งการขยายการลงทุนของมาสด้าในครั้งนี้ เป็นผลจากการที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตรถยนต์ Hybrid (HEV) เหลือร้อยละ 6 - 9 และรถยนต์ Mild Hybrid (MHEV) เหลือร้อยละ 10 - 12 มีผลตั้งแต่เริ่มใช้โครงสร้างภาษีใหม่เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2569 – 2575)
ประกอบกับบีโอไอ ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกประเภทที่มีการนำระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในสายการผลิตด้วย
“การขยายการลงทุนของมาสด้า เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์ประเภท B-SUV ในครั้งนี้ ตอกย้ำความเชื่อมั่นที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภท ให้สามารถเติบโตและเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการรักษาและพัฒนาต่อยอดกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์แห่งอนาคตของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว
นายมาซาฮิโร โมโร President and CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า มาสด้าได้ก้าวไปอีกขั้น เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ด้วยการเพิ่มเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ B-SUV ของมาสด้า ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการช่วยขับเคลื่อน ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะ และความปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากล ตั้งเป้าการผลิต 1 แสนคันต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น กลุ่มอาเซียน และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
โดยการลงทุนนี้จะครอบคลุมทั้งในส่วนของการประกอบรถยนต์ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ทั้งเครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ พร้อมเร่งลงทุนเพื่อให้เริ่มผลิตได้ในปี 2570 รองรับความต้องการรถยนต์พลังงานใหม่ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นของการลงทุนเพิ่มเติมครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทยเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของมาสด้า ภายใต้แนวทาง Multi-Solution ซึ่งตอกย้ำถึงพันธกิจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างมาสด้ากับประเทศไทย ที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ และแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนรถยนต์ Mild Hybrid (MHEV)” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก โดยได้กำหนดสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการลงทุน ดังนี้ คือ ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สูงสุดไม่เกิน 120 g/km , การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10 ,การปล่อย CO2 ตั้งแต่ 101 – 120 g/km กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 12
2.ต้องมีการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทในเครือ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2569 และไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2567 – 2571
3.ต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Traction Motor หรือชิ้นส่วนที่มีลักษณะการทำงานเพื่อเสริมแรงขับเคลื่อน ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป
4.ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (ADAS) อย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ
สำหรับสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ในปี 2567 มีจำนวน 309 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 102,366 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้ง BEV, HEV และ ICE การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อรถยนต์และอากาศยาน แบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่