xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯเหล็กอ่วม!เจอศึกรอบด้าน โดนดัมป์ตลาดเสียหายหมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมเหล็กไทยหวั่นปิดโรงงานเพิ่ม หลังเจอเหล็กนำเข้าดัมป์ตลาดหนัก ฉุดใช้อัตรากำลังการผลิตลดลงเหลือแค่ 20-30% ชี้ 10ปีที่ผ่านมา อุตฯเหล็กไทยเสียหายหลักหมื่นล้านบาท จี้รัฐเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตเหล็กไทยด่วน 
นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญปัญหารอบด้านทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดน้อยลงในช่วง2-3ปีนี้ และได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากเหล็กนำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ประกอบโรงเหล็กในประเทศบางแห่งต้องปิดตัวไป หรือบางโรงงานที่เดินเครื่องจักรอยู่ได้ก็ต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือแค่ 20-30%ของกำลังการผลิตรวม จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐให้เร่งแก้ไขปัญหาแบบบุรณาการ 
          แม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการขยายกฎหมายห้ามตั้งและขยายโรงงานเหล็กเส้นออกไปอีก 5ปีหลังจากเดิมสิ้นสุดในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งพบว่าในช่วง 2-3ปีนี้มีนักลงทุนจีนที่ไม่สามารถตั้งโรงงานเหล็กเส้นได้ ก็หันมาเช่าใบอนุญาตและเช่าโรงงานเหล็กในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยบางโรงงานมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งขยายกำลังการผลิตเพิ่มโดยไม่มีการแจ้งให้กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีสินค้าเหล็กด้อยคุณภาพวางจำหน่ายในท้องตลาดเพิ่มมากขึ้น

          



ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทยรวมเฉลี่ยปีละ 16 ล้านตัน เป็นเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 10 ล้านตันต่อปี ที่เหลือเป็นเหล็กที่ผลิตในไทย ทำให้ไทยเป็นประเทศติด 1ใน5 ประเทศที่นำเข้าเหล็กมากที่สุดในโลก แม้ว่ารัฐจะมีมาตรปกป้องการทุ่มตลาด(AD)เหล็กเส้น และเหล็กลวดในประเทศ แต่พบว่าเหล็กนำเข้าก็มีการหลีกเลี่ยงพิกัดการเสียภาษีทำให้กรมศุลากรไม่สามารถเรียกเก็บภาษีADได้

ตลอดช่วง 10ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กได้รับความเสียหายจากการดัมป์ตลาดเหล็กนำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศเป็นมูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท โดยมีโรงงานเหล็กปิดไปแล้ว 3-4 โรงโดยเป็นโรงงานเหล็กขนาดใหญ่ 1-2 โรง มีการเลิกจ้างแรงงานไทยหันมาจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น หากรัฐยังไม่เร่งแก้ไขเชื่อว่าจะเห็นการปิดตัวโรงงานเหล็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยุติการผลิตแล้ว แต่โรงงานเหล็กยังเดินเครื่องจักร เพราะมีนักลงทุนจีนมาเช่าใบอนุญาติและเช่าโรงงานเพื่อผลิตเหล็กต่อโดยมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งหากผลิตเหล็กไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานมอก. แล้วถูกจับกุม ทางเจ้าของโรงงานที่ให้เช่าก็จะต้องรับผิดชอบร่วมด้วย


นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคมเหล็กลวดไทย กล่าวว่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศนอกจากได้รับผลกระทบจากเหล็กนำเข้าแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากโรงงานเหล็กใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ โรงงานเหล็กซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กแผ่นรายใหญ่ของจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทยก่อนที่จะมีกฎหมายห้ามตั้งและขยายโรงงานเหล็กแม้ว่าจะเลื่อนการเปิดโรงงาน แต่น่าจะเปิดโรงงานผลิตภายในปีนี้ ซึ่งจะยิ่งกดดันให้ตลาดเหล็กในประเทศยิ่งแย่ลงเพราะกำลังการผลิตล้นตลาด

ทั้งนี้ พบว่ามีโรงงานเหล็กจากจีนมีการใช้เครื่องจักรและเตาอินดักชั่น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้พลังงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หากการควบคุมคุณภาพไม่ได้สม่ำเสมออาจจะส่งผลกระทบต่อการนำไปผู้บริโภค เนื่องจากต้นทุนการผลิตจะถูกกว่าการผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า และปัจจุบันการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศเปลี่ยนรูปแบบเป็นการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป เช่น น็อต สกูล ฯลฯ ทำให้กระทบต่อผู้ประกอบการSMEที่นำเหล็กลวดไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป


ดังนั้น 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยื่นข้อเสนอมาตรการแนวทางการช่วยเหลือดังนี้ คือ .การห้ามส่งเศษเหล็กเพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศ 2. การควบคุมสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เหล็กรูปพรรณ 3.ห้ามตั้งและขยายโรงงานเหล็กเส้น เหล็กลวด รวมถึงเหล็กแผ่นรีดร้อน และโรงงานท่อเหล็กเพิ่มเติม 4.ให้โครงการภาครัฐเลือกใช้เหล็กในประเทศ 5. นำมาตรการต่างๆมาใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ นอกเหนือจากมาตรการปกป้องกันทุ่มตลาด (AD)ที่ใช้ในปัจจุบันอาทิ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(SG) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) รวมเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้มงวดโรงงานเหล็กที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานมอก. โดยไม่ควรลดมาตรฐานมอก.เหล็กที่ดีอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น