“อีอีซี” ถก UTA ดันออก NTP ลุยสร้าง "อู่ตะเภาเมืองการบิน" มี.ค. 68 จ่อยกเว้น เริ่มนับสัญญาช่วงไฮสปีด 3 สนามบินยังไม่เริ่ม ส่วนรันเวย์ 2 ส่อยื้ออีกนานหลังกองทัพเรือชงเพิ่มงบจ้าง "ที่ปรึกษา" คุมก่อสร้าง ล่าสุดแจ้งขอยืนราคาถึง เม.ย. 68
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า อีอีซีทำงานร่วมกับ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่นจำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานฯ ซึ่งมีความพร้อมที่จะเริ่มงานแล้ว แต่ยังติดเงื่อนไขที่ต้องตกลงเรื่องระยะเวลาและแผนการก่อสร้าง ร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ( ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งยังมีความล่าช้า จึงได้สรุปหลักการร่วมกันว่าทาง UTA จะไม่รอไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน โดยจะเร่งสรุปเพื่อออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ให้ UTA ในเดือน มี.ค. 2568
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขเดิมเมื่อออก NTP จะต้องเริ่มต้นนับเวลาสัญญาสัมปทาน ซึ่งตรงนี้หากไฮสปีดเกิดมีความล่าช้าออกไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จะมีผลต่อสนามบินอู่ตะเภา จึงต้องหารือในรายละเอียด เงื่อนไขเพื่อทำโมเดลในการออก NTP เช่น แบบที่ยังไม่มีไฮสปีด กับแบบมีไฮสปีด มีระยะเวลาเท่าไร ในการจะเริ่มนับสัญญาของ UTA
“ตอนนี้หลักการทุกฝ่ายเห็นด้วยกันว่า UTA ไม่ควรรอไฮสปีด 3 สนามบินแล้ว เพราะจะยิ่งล่าช้า ให้ออก NTP ได้เลย ตอนนี้เหลือดูรายละเอียดเรื่องเวลา ไม่ทำแบบนี้ UTA ก็เริ่มงานไม่ได้เสียที ทางอีอีซีพยายามผลักดันให้ได้เริ่มต้น ซึ่งการพัฒนาเมืองการบินจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างดีมานด์ให้โครงการ ส่วนรันเวย์ทางกองทัพเรือต้องดำเนินการอยู่แล้ว ขณะที่ได้หารือกับการรถไฟฯ ไว้แล้วว่าหากไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินยังไม่มา ทางการรถไฟฯ จะต้องออกค่าก่อสร้างในส่วนของอุโมงค์ที่ลอดใต้รันเวย์เอง" นายจุฬากล่าว
@ไม่จบ กองทัพเรือแจ้งขอยืนราคาที่ปรึกษา "รันเวย์ 2" ถึง เม.ย. 68
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) สนามบินอู่ตะเภาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ (ทร.) นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการประมูลคัดเลือกที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนผู้รับเหมาสรุปผลคัดเลือกไปแล้วเมื่อเดือน ส.ค. 2567 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เสนอราคาต่ำสุด ที่ 13,200 ล้านบาท แต่ยังลงนามสัญญาก่อสร้างไม่ได้ เพราะต้องรอสรุปผลที่ปรึกษาและลงนามสัญญาพร้อมกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากได้ ITD เป็นผู้รับเหมาแล้ว กองทัพเรือได้เปิดประมูล คัดเลือกที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ราคากลาง 480 ล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างชาติ คือจีน และเกาหลีใต้ เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ แต่ยังไม่สามารถสรุปผลประมูลได้ เนื่องจากผู้ที่ได้คัดเลือกเป็นอันดับ 1 เสนอราคาสูงกว่าราคากลาง ประมาณ 12% โดยอยู่ระหว่างที่กองทัพเรือได้ทำเรื่องเสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินค่าจ้าง และล่าสุดกองทัพเรือได้ทำหนังสือถึงผู้เข้าร่วมประมูล ให้ยืนราคาออกไปจนถึงเดือน เม.ย. 2568