xs
xsm
sm
md
lg

อัปเดต”บ้านเพื่อคนไทย”ผ่านเกณฑ์แล้ว1.4 แสนราย-จ่อเพิ่มทุน SRTA เป็นพันล้านลุยสร้างรวม 1 แสนยูนิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ปิดลงทะเบียนเฟสแรกสุดสัปดาห์นี้
  • • เตรียมเปิดเฟส 2 เพิ่มในหัวเมืองใหญ่
  • • ตั้งเป้าเปิดจอง 1 แสนยูนิตในปีนี้
  • • เพิ่มทุน SRTA เป็น 1 พันล้านบาท
  • • คอนโดมิเนียมแบบกรมที่ดิน 11 (กม.11) ได้รับความนิยมสูง อาจพัฒนาเป็นตึกสูงไม่เกิน 42 ชั้น


“บ้านเพื่อคนไทย”ลงทะเบียนแล้วกว่า 2.7 แสนคน ผ่านคุณสมบัติ ธอส. 1.4 แสนคน“สุรพงษ์”เผยปิดลงทะเบียนสุดสัปดาห์นี้ เตรียมเปิดเฟส 2 เพิ่มตามหัวเมืองใหญ่ เป้าปีนี้ เปิดจอง 1 แสนยูนิต เตรียมเพิ่มทุน SRTA เป็น 1 พันล้านบาท เผยกม.11 ฮอตสุด เล็งผุดตึกสูงไม่เกิน 42 ชั้น

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากมีการเปิดตัวโครงการบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งมีพื้นที่นำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่บางซื่อ กม. 11, พื้นที่สถานีเชียงราก ,พื้นที่สถานีธนบุรี ,พื้นที่สถานีเชียงใหม่ โดยให้ประชาชนที่สนใจ เข้าชมห้องและบ้านตัวอย่างที่บริเวณโถง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และ เปิดเว็ปไซด์ www.บ้านเพื่อคนไทย.th เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าดูรายละเอียดโครงการ และลงทะเบียนแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ฯ ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2567 จนถึงวันที่ 4 ก.พ. 2568 พบว่า มี ผู้เข้ามาชมเว็บไซต์ รวมแล้ว 75 ล้านครั้ง โดยมีผู้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ฯ จำนวนทั้งสิ้น 2.7 แสนคน และสามารถที่ผ่านการกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Approve) เป็นผู้สามารถกู้เงิน ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตามเงื่อนไขแล้วจำนวน 1.4 แสนคน สำหรับพื้นที่ที่มีคนลงทะเบียนมากที่สุด คือ กม.11 (วิภาวดี) มากกว่า 1 แสนคน
เบื้องต้น จะเปิดให้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ฯ จนถึงสุดสัปดาห์นี้ จากนั้นจะปิดรับการลงทะเบียน ส่วนธอส. จะดำเนินการคัดกรองคุณสมบัติไปจนแล้วเสร็จครบที่ลงทะเบียน และดำเนินการแจ้งต่อผู้ที่คุณสมบัติผ่านได้รับทราบ


ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่ มีประชาชนลงทะเบียนและผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจำนวนมาก ดังนั้น จะให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้ามาดำเนินการเรื่องการแรนดอม ผู้ได้รับสิทธิ์ในเฟสแรก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด โดยใน 4 พื้นที่ นำร่องนั้น จะมีรวมประมาณเกือบ 5,000 ยูนิต ประกอบด้วย พื้นที่กม. 11 ประมาณ 1,000 ยูนิต พื้นที่ธนบุรีประมาณ 3,000 ยูนิค พื้นที่เชียงราก ประมาณ 800 ยูนิค และเชียงใหม่ (บ้านเดี่ยว) 35 หลัง โดยกรณีที่ ผ่านคุณสมบัติ แต่พลาดจากการแรนดอมในเฟสแรก ก็ยังคงมีสิทธิ์ในการเข้าแรนดอมในเฟสต่อๆไปได้

และในเร็วๆนี้จะเปิดพื้นที่ในเฟส 2 อีกประมาณ 10,000 ยูนิต และเฟส 3 เฟส 4 ตามไป มีเป้าหมายภายในปี 2568 จะมีทั้งหมด 100,000 ยูนิต และจะเริ่มส่งมอบให้ผู้ได้รับสิทธิ์เข้าอยู่อาศัยภายในปี 2569 โดยพื้นที่ ที่จะนำมาพัฒนา จะเน้นที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น นครราชสีมา กาญจนบุรี หาดใหญ่ สงขลา สุราษฎร์ธานี เป็นต้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย และใช้ระบบรางในการเดินทาง ซึ่งอนาคตระบบทางคู่ รถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จการเดินทางจะสะดวกปลอดภัยมากขึ้น

ตัวอย่าง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จะมีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟกาญจนบุรี และป้ายหยุดรถสะพานแควใหญ่ โดยมีแนวทางการพัฒนาในรูปแบบคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 ยูนิต ซึ่งคาดว่าการดำเนินการในเฟสที่ 1 จำนวน 1,500 ยูนิต จะแล้วเสร็จในปี 2569 ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว


@ เร่งออกแบบ เตรียมยื่น EIA

นายสุรพงษ์กล่าวว่า วิธีการทำตลาดของโครงการบ้านเพื่อคนไทย คือหาลูกค้าก่อน เพื่อให้ทราบจำนวนที่ต้องการ ขนาดและรูปแบบของห้องรูปแบบ แล้วออกแบบให้ตอบรับกับความต้องการ มากที่สุด ดังนั้นตอนนี้จึงอาจจะยังบอกจำนวนยูนิตที่แน่นอนไม่ได้ในแต่ละพื้นที่ เพราะต้องถึงกับขนาดห้องด้วยว่า มีคนต้องการขนาดไหนมาก ขนาดไหนน้อย โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการออกแบบ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อยื่น EIA ต่อไป


@กม.11 ผุดอาคารสูง 28 ชั้น- 42 ชั้น ตามกฎการบิน

สำหรับพื้นที่กม.11 ค่อนข้างเป็นไฮไลท์ เนื่องจากมีคนลงทะเบียนเข้ามากว่า 1 แสนราย ขณะที่แนวคิดการออกแบบ จะมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 10,000 ยูนิต เป็น อาคารประมาณ 10 หลัง ความสูงได้ไม่เกิน 42 ชั้น ตามกฎกมานบิน ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาความสูงระหว่าง 28 -42 ชั้น แต่ไม่ใช่อาคาร 8 ชั้น ตามที่เคยมีข่าวออกไป เพราะเทียบกับมูลค่าพื้นที่หากสร้าง 8 ชั้นไม่คุ้มค่าแน่นอน


@เตรียมเพิ่มทุน SRTA เป็น 1,000 ล้านบาท

ส่วน บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือหุ้น 100% นั้น มีหน้าที่นำที่ดินรถไฟ ที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ (Non – Core Business) มาพัฒนา หารายได้ หรือนำสัญญาที่มีอยู่เดิมมาบริหารต่อ มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 200 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา เพิ่มทุนเป็น 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการดำเนินโครงการบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งจะต้องมีการกู้เงินมาก่อสร้าง คาดมูลค่าลงทุนเฟสแรกที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างทำแผนเสนอบอร์ดการรถไฟ

“ตอนนี้กำลังดูเรื่องงบประมาณ และการกู้เงิน ว่าจะให้SRTA กู้เองหรือไม่ ซึ่งเงินลงทุน 5-6 พันล้านบาท เป็นการทยอยจ่าย ในขณะที่เมื่อเฟสแรกเสร็จก็จะมีรายได้จากผู้เช่าอาศัยเข้ามา โครงการนี้ มีรายได้แน่นอน ถือว่าไม่มีความเสี่ยง การกู้เงินไม่น่ามีปัญหา”นายสุรพงษ์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น