- • วงเงินกู้ใช้แก้ปัญหาขาดทุนหมุนเวียน
- • ป้องกันการดำเนินงานของ รฟท. หยุดชะงัก
- • ระยะเวลากู้ 2 ปี (30 มี.ค. 68 – 29 มี.ค. 70)
ครม.ไฟเขียว รฟท.กู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 1,500 ล้านบาท แก้ขาดเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อไม่ให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก ระยะสัญญาเงินกู้ 2 ปี ตั้งแต่ 30 มี.ค. 68-29 มี.ค. 70
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครมง) วันที่ 4 ก.พ. 2568 มีมติเห็นชอบ การกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม โดย รฟท.จะดำเนินการกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ให้ รฟท.พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม โดย รฟท.ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ รฟท.ใช้ในกรณีที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อไม่ให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก โดยสัญญากู้เงินฉบับล่าสุดจะครบกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2568 ในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดย รฟท.จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญาเงินกู้ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2568-29 มีนาคม 2570 โดยกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ เงินกู้ดังกล่าวได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แล้ว
โดยกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ และมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น (1) ให้ รฟท.พิจารณาคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) (กค.) (2) ให้ รฟท.เร่งรัดการดำเนินการตามแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 (แผนฟื้นฟู รฟท.) (สงป. และ สศช.) (3) ให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเกี่ยวกับการให้รัฐบาลชดเชยผลการขาดทุนรายปีให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สะสมและพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนของ รฟท.