- • เน้นลงทุน Data Center และโรงไฟฟ้า
- • เตรียมซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซในสหรัฐฯ ขนาด 1,000 เมกะวัตต์
- • ไม่ลงทุนโรงไฟฟ้า SMR เนื่องจากเงื่อนไขการลงทุนจากภาครัฐยุ่งยาก
- • มั่นใจรัฐบาลจะสามารถควบคุมราคาไฟฟ้าให้อยู่ที่ 3.70 บาทต่อหน่วยได้
GULF ลั่นปี 68 ทุ่มเงินหลายหมื่นล้านบาทขยายลงทุนธุรกิจ Data Center และโรงไฟฟ้า จ่อซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐฯ เพิ่ม ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ เมินลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ชี้รัฐเป็นผู้ลงทุนเหตุเงื่อนไขเยอะ มั่นใจรัฐกดค่าไฟฟ้าลงที่ 3.70 บาทต่อหน่วยทำได้
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ในปี 2568 บริษัทมีแผนควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม ขนาดกำลังแต่ละโรงราว 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ได้มีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม "Jackson" อยู่แล้ว ขนาดกำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สหรัฐฯ และรับรู้รายได้ทันที
ทั้งนี้ Gulf Energy USA, LLC (Gulf USA) ที่ GULF ถือหุ้น 100% ได้ลงทุนถือหุ้น 49% ใน Jackson Generation, LLC หรือโครงการโรงไฟฟ้า Jackson ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ กับ J-POWER Jackson Partners, LLC เรียบร้อยแล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 409.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าว เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโครงข่ายระหว่างเพนซิลเวเนีย-นิวเจอร์ซีย์-แมริแลนด์ (Pennsylvania-New Jersey-Maryland Interconnection: PJM) ภายใต้ตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี (Merchant Market)
นายสารัชถ์กล่าวว่า ในปี 2568 บริษัทมีแผนการลงทุนใช้เงินรวมหลายหมื่นล้านบาททั้งในธุรกิจ Data Center ธุรกิจโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งกลยุทธ์บริษัทในขณะนี้จะเน้นธุรกิจ Data Center เป็นหลัก โดยมีการขยายโครงการ Data Center เพิ่มอีก ส่วนการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองเห็นโอกาสการลงทุนในหลายประเทศ
ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา โดยหลายประเทศก็เริ่มมีการศึกษาเทคโนโลยีกัน รวมถึงเห็นว่าประเทศไทยก็เริ่มดูๆ อยู่ แต่ในส่วนของ GULF คงยังไม่มีแผนเข้าไปศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ภาครัฐควรเป็นผู้ลงทุนมากกว่าเอกชน เนื่องจากมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก ดังนั้นภาครัฐน่าจะเหมาะสมที่จะเข้ามาบริหารจัดการได้ดีกว่าภาคเอกชน
ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐเสนอปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยนั้น มองว่าทำได้ เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเริ่มเบาลงแล้ว ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้ามาก็มีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมเชื่อว่ายังมีแนวโน้มที่จะลดลง เพราะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีนโยบายการผลิตก๊าซฯ และน้ำมันที่สหรัฐฯ ทำให้มีซัปพลายน้ำมันและก๊าซฯ ออกสู่ตลาดมากขึ้น จึงเป็นเทรนด์ที่ดีที่ทำให้ค่าไฟและค่าเชื้อเพลิงลดลง