- • รัฐบาลมีแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เป็น "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" หรือสถานบันเทิงครบวงจร
- • เป้าหมายคือการสร้างรายได้ให้ประเทศ
- • การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้แล้ว
ท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) พื้นที่สำคัญกลางเมืองที่เป็นพิกัดเป้าหมายของรัฐบาลในการทำ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” หรือสถานบันเทิงครบวงจร ที่หวังว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือกรุงเทพมากว่า 10 ปี และมีการทบทวนปรับปรุงแผนมาหลายครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยติดขัดหลายประการ ทั้งเรื่องชุมชนคลองเตย พื้นที่คลังน้ำมัน และการให้บริการท่าเรือเอง จนกระทั่ง มีนโยบายย้ายท่าเรือเพื่อแก้ปัญหาจราจร และฝุ่นละออง PM 2.5 และเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือฯ พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท.ให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ กทท.สามารถดำเนินการกิจการต่างๆ ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ของ กทท.ได้ ที่สำคัญ ให้ กทท.สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่เป็นการปรับปรุงเพื่อให้การท่าเรือฯ มีความคล่องตัวในการบริหารงานการพัฒนากิจการ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการท่าเรือและภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ
“ส่วนการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ และจัดทำแผนปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าภายใน 6 เดือนจะมีความชัดเจนว่าพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพจะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์อย่างไร แบ่งโซนพื้นที่อย่างไร โดยจะมีการพัฒนาเป็น Smart Port และ Smart Community และพัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย”
ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ให้แนวทาง กทท.ในการจัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อต้องการให้มีการบริหารจัดการแบบเจาะจง โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ มีคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากแนวราบเป็นแนวสูง ชุมชนในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่หน้าท่า พัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และนำพื้นที่ส่วนที่เหลือไปพัฒนาเชิงพาณิชย์มากขึ้น
“มีพื้นที่เกือบ 800 ไร่ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของการท่าเรือฯ ส่วนใหญ่เป็นลานและอาคารเก่า มีตู้สินค้าเก่า ให้กทท.จัดจ้างที่ปรึกษา วงเงิน 20 ล้านบาท ศึกษา Business Model การพัฒนาพื้นที่ภายในระยะเวลา 6 เดือน”
@ เปิดผังพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ 2,353 ไร่
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพจะไม่มีการย้ายท่าเรือ แต่จะเป็นการปรับการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจุบันพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพมีประมาณ 2,353.2 ไร่ แบ่งการใช้พื้นที่เป็น 7 ส่วน ดังนี้
1. พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ ทกท. 943.2 ไร่
2. พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ กทท. 149.2 ไร่
3. พื้นที่หน่วยงานของรัฐขอใช้ 150.2 ไร่
4. พื้นที่หน่วยงานของรัฐเช่าใช้ประโยชน์ 152.2 ไร่
5. พื้นที่เอกชนเช่า 521.16 ไร่
6. พื้นที่ชุมชนอัด 232.1 ไร่
7. พื้นที่ทางสัญจร (ถนน, ทางรถไฟ, คลอง) 203.1 ไร่
ขณะที่แนวคิดเบื้องต้น การจัดโซนเพื่อใช้ประโยชน์ใหม่ แบ่งผังพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- พื้นที่พัฒนา Smart City 1,085 ไร่
- พื้นที่พัฒนา Smart Port 709 ไร่
- พื้นที่พัฒนา Smart Community 123 ไร่
- พื้นที่ ปตท.เช่าใช้ 103 ไร่
@พัฒนา Smart Port ลดพื้นที่ ปรับบริการหลังท่าขึ้นแนวสูง
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ท่าเรือกรุงเทพออกแบบมาแล้ว 70 กว่าปี ใช้งานเต็มพื้นที่ จะมาปรับผังกันใหม่ ให้ส่วนของท่าเรือด้านเขื่อนตะวันออก และเขื่อนตะวันตก พัฒนา Smart Port จากเดิมมีคลังสินค้า และมีการวางตู้สินค้าไม่เป็นระเบียบ ไม่มีประสิทธิภาพ จะมีการจัดการให้เกิดความเหมาะสม โดยมีแนวคิดการพัฒนาโครงการ ได้แก่
1. การพัฒนาท่าเรือให้เป็นเมืองท่าและศูนย์กระจายสินค้า ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Logistics Park) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศได้ถึง 1.41 พันล้านบาท หรือประมาณ 0.01% ของ GDP อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดการสร้างงาน ยกระดับให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาค
2. การพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่หลังท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ถือเป็นแนวทางในการต่อยอดโครงการพัฒนาทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพกับทางพิเศษ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ลดปัญหาจราจรติดขัดรอบพื้นที่ท่าเรือ รองรับการขยายตัวของโครงการ Smart Community และ Smart City และเพิ่มมูลค่าที่ดินของการท่าเรือฯ ลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุ จากการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจพบว่า โครงการมี มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ในช่วง 1,187.02-1,528.77 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนภายในจากการลงทุน (EIRR) อยู่ระหว่าง 17.99% - 19.51% และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C Ratio) อยู่ที่ 1.60-1.77 ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน
3. การพัฒนาระบบการให้บริการโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยพัฒนาพื้นที่จุดพักรถบรรทุก (Truck Parking) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการจราจร (Truck Q) เพื่อลดปัญหาการจราจรทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ
4. การพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว การบริหารจัดการและพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาโครงการ Bangkok Port Passenger Cruise Terminal บนพื้นที่ 67.41 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและการท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นเมือง destination จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำและสร้างรายได้ให้กับประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวคิด Eco City อีกด้วย
นอกจากนี้ การท่าเรือฯ จะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะระบบ Port Automation และ Port Community System รวมทั้งการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยกระดับประสิทธิภาพระบบคมนาคมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ชุมชนต่อไป
@พ.ร.บ.ใหม่เปิดทางให้ทำกิจการที่เกี่ยวเนื่องได้
นายเกรียงไกรกล่าวว่า พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่จะทำให้การบริหารกิจการของ กทท.มีความคล่องและทันสมัย เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและสามารถใช้พื้นที่ท่าเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการแก้ไขจากพ.ร.บ.ปัจจุบันที่ให้ท่าเรือตั้งบริษัทลูกได้ ถือหุ้นได้ แต่ต้องเป็นธุรกิจโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับเรือโดยตรง มาเป็นสามารถทำธุรกิจโดยตรงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งใน พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับเดิมไม่ได้ระบุไว้ เช่นที่ผ่านมาพื้นที่ของ กทท.จะให้เอกชนเช่าเท่านั้น แต่ พ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ทำได้ โดยกำหนดมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจของบอร์ด กทท.อนุมัติ กรณีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ให้นำเสนอ ครม.ขออนุมัติ
“คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้เพราะจะทำให้การบริหารกิจการท่าเรือเปลี่ยนไปสามารถทำกิจกรรมหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้ ซึ่งจะสร้างมูลค่าจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้มากกว่าการให้เช่า ส่งผลต่อรายได้และผลประโยชน์ของประเทศที่จะตามมาด้วย”
@พาส่อง "ท่าเรือโยโกฮามา" โมเดลผสม "ท่องเที่ยว&ตู้สินค้า"
นายเกรียงไกรกล่าวว่า กทท.ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับเมืองโยโกฮามาและประชุมร่วมกับบริษัท Yokohama-Cargo-Center (YCC) ถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือในด้านการพัฒนากิจการท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่หลังท่า ส่งเสริมการตลาด เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ชุมชน โดยเมืองโยโกฮามาจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพและการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ญี่ปุ่นมีท่าเรือเล็กใหญ่รวมกันกว่า 300 ท่า เป็นท่าเรือใหญ่ๆ 100 กว่าท่า แต่ที่เป็นท่าเรือหลักมี 10 ท่า เรียกว่า Major Port ซึ่ง ท่าเรือโยโกฮามา ถือเป็นท่าเรือเบอร์หนึ่งด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น มีเรืออยู่ 171 ลำ และมีการขนส่งตู้สินค้าเป็นเบอร์ 2 อยู่ที่ 3 ล้านตู้ ส่วนท่าเรือโตเกียว อยู่ที่ 4.6 ล้านตู้ ถ้าคิดเป็นการขนส่งสินค้า ท่าเรือโยโกฮามาจะอยู่ที่ 68 ของโลก ท่าเรือโตเกียวจะอยู่ที่ 46 ของโลก แต่ถ้านับทั้งหมดทั้งประเทศญี่ปุ่นมีการขนสินค้าทั้งหมด 22 ล้านตู้ ส่วน ท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทยอยู่ที่ 9 ล้านตู้
ท่าเรือโยโกฮามามีพื้นที่ประมาณ 18,000 ไร่ ใหญ่กว่า ท่าเรือกรุงเทพประมาณ 7-8 เท่า จุดเด่นการพัฒนามีประสิทธิภาพ คือ การกันโซนนิ่งชัดเจนว่าเป็นโซนท่าเรือ โซนเรสซิเดนซ์ โซนอุตสาหกรรม และโซนที่จะมีการลงทุนใหม่ ทำให้ปัญหาเรื่องชุมชนไม่เกิด และขยายพื้นที่ด้วยการถมทะเล สร้างท่าเรือใหม่ คือการถมทะเลเข้าไปเพื่อสร้างท่าเรือใหม่
@ผุด DC แนวสูง เน้นรถเล็กรับกระจายสินค้า
แนวคิดที่จะนำมาทำที่ท่าเรือกรุงเทพ จะวางการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ กับพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ 40:60 โดยพื้นที่ท่าเรือ และโกดังสินค้าทั้งหมดที่กระจายจะยุบรวมอยู่ใน B1 เป็น One Stop Service และสร้างท่าเรือใหม่ "ท่าเรือเทอร์มินัล 3" ที่เป็น Smart Port และเชื่อมโยงกับหลังท่า พัฒนาเป็น DC หรือศูนย์กระจายสินค้า
ศูนย์กระจายสินค้าจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนโกดังสินค้า 17 โรงที่จะยุบมารวมกัน ใช้พื้นที่แนวสูงแทน มีลานจอดรถพร้อม เป็นโมเดลโยโกฮามา และ DC ที่เป็นธุรกิจใหม่ ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจโกดังสินค้า เป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยง เช่น ธุรกิจแช่เย็น ธุรกิจที่เกี่ยวกับฟรีโซน วัตถุประสงค์หลักของ DC คือต้องการเปลี่ยนจากรถบรรทุกให้เหลือน้อยลง เป็นรถกระบะวิ่งเข้ามามากขึ้น ลดปัญหาจราจร และการใช้รถเล็ก เกิดความคล่องตัว กระจายขนส่งที่มีความรวดเร็ว
ส่วนท่าเรือท่องเที่ยว หรือครูซเทอร์มินัล ที่ท่าเรือกรุงเทพมีแค่ 3 ลำบ้าง 5 ลำบ้าง เพราะรับได้เฉพาะเรือขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ไปเทียบท่าเรือแหลมฉบัง เพราะเรือขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 66-70 ลำต่อปีใหญ่มาก ข้อจำกัดของท่าเรือกรุงเทพคือ เป็นท่าเรือแม่น้ำ หน้าท่าความลึกร่องน้ำ 8.5 เมตร ขณะที่เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่จะต้องใช้ 9.8 เมตร ส่วนที่ 2 คือ ความยาวหน้าท่าวันนี้เรา 172 เมตร แต่เรือท่องเที่ยวส่วนใหญ่ 170 เมตรขึ้นไป ตรงนี้ก็ต้องรอสรุปการศึกษาเพื่อนำมาออกแบบหน้าท่า
สำหรับการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โยโกฮามา การแยกพื้นที่ออกมา ทำ "โครงการมินาโตเมไร" มีการขายที่ดิน แบ่งจัดสรรให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วยกันซื้อแล้วก็พัฒนา ทั้งศูนย์การค้า โรงแรมมากมาย สามารถดึงความเจริญจากโตเกียวย้ายไปยังโยโกฮามา ในเขตมินาโตะเมไร กว่า 2,000 บริษัท นอกจากออกแบบเป็นเชิงพาณิชย์ ยังมี Innovation มีเทคโนโลยีมี นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้โยโกฮามาเป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่งรถไฟ เป็นเบอร์ 3 ของประเทศญี่ปุ่น รองจาก ชินจูกุ และชิบูยา ทำให้เห็นภาพว่าการทำโลจิสติกส์ ไม่ได้ทำแค่การยกขนสินค้า แต่ต้องทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหมดให้สัมพันธ์กับทางขนส่ง ซึ่งเป็นที่มาการแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือ
กทท.ใช้เวลาปรับปรุง พ.ร.บ.การท่าเรือฯ มานานหลายปี และมาเสร็จพอดีกับนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ขณะที่แผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ก็มีการทบทวนและปรับพื้นที่จัดโซนกันใหม่เพื่อรองรับกันอย่างพอดิบพอดี ..น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะพลิกโฉมท่าเรือในรอบกว่า 73 ปี!!!