- • กำลังศึกษาโมเดล PPP และค่าโดยสาร 20 บาท
- • เริ่มจัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า กันยายน 2569
- • ใช้เวลาติดตั้งระบบประมาณ 3 ปี
- • เริ่มดำเนินการในส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่แล้วเสร็จแล้ว
รฟม. เผยไทม์ไลน์ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ พร้อมเปิดให้บริการในปี 72 แจงกำลังศึกษา PPP ค่าโดยสาร 20 บาท เริ่มจัดหาผลิต ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ก.ย. 69 เข้าพื้นที่ส่วนโยธาที่แล้วเสร็จ ใช้เวลาติดตั้งงานระบบ ประมาณ 3 ปี
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ว่า ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (PPP) ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์กรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนเสนอหลักการของโครงการที่เป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่อประชาชนสูงสุด ให้คณะกรรมการ รฟม. พิจารณาเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไประหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม 2568
ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม. จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จ และเอกชนเริ่มดำเนินงานจัดหา ผลิต ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ได้ภายในเดือนกันยายน 2569 โดยเข้าพื้นที่ทำงานได้ในส่วนที่งานโยธาแล้วเสร็จ และใช้ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 3 ปี ซึ่ง รฟม. ขอเรียนว่า รฟม. ได้กำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถเป็นโครงข่ายเดียวกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ได้ภายในเดือนกันยายน 2572
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน และไปสิ้นสุดที่สถานีครุใน มีระยะทางรวมประมาณ 23.63 กิโลเมตร มีสถานี 17 สถานี แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
โดย รฟม. ได้เริ่มการก่อสร้างงานโยธาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างรวม 2,005 วัน หรือจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2570 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 - 2565 รฟม. จึงได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานโครงการในปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสัญญางานโยธา โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2571
ทั้งนี้ต่อมาในปี 2567 รฟม. มีความจำเป็นต้องปรับปรุงรายงาน PPP ก่อนเสนอตามขั้นตอนต่อไป จึงได้มีการปรับปรุงแผนการดำเนินงาน โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2572 ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยรองรับการเดินทาง ของประชาชนจากกรุงเทพมหานครฝั่งเหนือไปยังกรุงเทพมหานครฝั่งใต้ และทำให้เดินทางเข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการได้โดยสะดวก