xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ รฟท.ยื่น ‘ป.ป.ป.’ กล่าวโทษ ‘อธิบดีกรมที่ดิน-คกก.มาตรา 61’ ปมไม่เพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • สร.รฟท. ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการมาตรา 61 ต่อ บก.ปปป.
  • • กรณีกล่าวหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลพินิจไม่ชอบ
  • • เกี่ยวกับการไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง


‘สร.รฟท.’ ยื่นหนังสือ ‘บก.ปปป.’ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ‘อธิบดีกรมที่ดิน-คกก.มาตรา 61’ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ฯ-ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ปมไม่เพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 68 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท. และพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้บังคับการกองบังคับการกองปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กับคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2566 รวม 12 คน ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่ง ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ดำเนินการป้องกัน หรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่งตามคำพิพากษาของศาลนั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายกับที่ดินของ ร.ฟ.ท. โดยไม่ดำเนินการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท. เป็นผู้ลงนามในหนังสือร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เนื้อหาระบุว่า เนื่องด้วยผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษทั้งหมดมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563, คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบพิสูจน์พยานหลักฐาน และเอกสารที่เกี่ยวข้องจนสิ้นข้อสงสัยจากศาลยุติธรรมแล้ว ซึ่งได้โปรดมีคำพิพากษา และวินิจฉัยไว้ชัดแจ้งว่า ที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375+650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ถือเป็นที่สุดแล้ว (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 4-6)

ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากคำพิพากษาของศาลดังกล่าว ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในความหมายของคำว่า “ที่ดินรถไฟ” ตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในเวลานั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดินตามมาตรา 25 และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดวางการรถไฟและทางหลวงพระพุทธศักราช 2464 ซึ่ง “ที่ดินรถไฟ” จึงถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมีหน้าที่และมีอํานาจดูแลรักษา รวมทั้งดําเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 2, มาตรา 8 และมาตรา 61 (ตามอ้างถึง 1.) ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557 ข้อ 2 ให้กรมที่ดินมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ

จากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังนั้น “ที่ดินรถไฟ” จึงถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ตามมาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กรมที่ดินโดยอธิบดีกรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษา คุ้มครอง และป้องกันที่ดินรถไฟดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2557 ข้อ 2 ให้กรมที่ดินมีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ และข้อ 18 สำนักจัดการที่ดินของรัฐมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ ...(2) ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน


ดังนั้น ตามหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท.0536.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ต.ค.2567 เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อธิบดีกรมที่ดิน มีหนังสือแจ้งถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่องแจ้งผลพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 โดยรายงานสรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน

มีผลสรุปว่า....คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติยืนยันความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจนกว่า จะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ยกเว้นในบริเวณที่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า มีการเข้าใช้ประโยชน์โดยมีการสร้างทางรถไฟซึ่งจะต้องไม่เกินข้างละ 20 วา หรือ 40 เมตร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำพิสูจน์เข้าทำประโยชน์ ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีคณะกรรมการสอบสวนท่านใดมีความเห็นแย้ง
โดยเฉพาะความเห็นในส่วนของอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ที่ 1) เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนฯ ประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน (ผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษที่ 2 ถึง ที่ 12) ซึ่งเห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงได้ให้เป็นที่ยุติว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนปรากฏว่า การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ตำบลเสม็ด และตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น จึงยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีกรมที่ดิน หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายจะใช้พิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามในข้อ 12 แห่งกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้

แต่อย่างไรก็ดี หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป


จากเหตุผลของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน อ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถนำแผนที่แนบท้าย พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวง ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 มาแสดงต่อคณะกรรมการสอบสวนได้ เป็นเหตุผลในการไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดิน ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลและมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น เนื่องจากอาณาเขตอันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยละเอียดแล้ว

การที่คณะกรรมการสอบสวน (ผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษที่ 2 ถึง ที่ 12) ได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่ยุติว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงพิจารณาไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินนั้น เป็นการวินิจฉัยและใช้ดุลพินิจที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงตามที่ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และหน่วยงานอื่นๆ ได้วินิจฉัยไว้แล้ว เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ทั้งข้อสังเกตของศาลปกครอง ที่ให้ผู้ฟ้องคดี คือการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของผู้ฟ้องคดีจำนวน 5,083 ไร่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และผู้แทนของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่ และได้ทำการปักหมุดตามแบบ ร.ว.9 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของพิกัดแผนที่นั้น ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น

ปรากฏว่าอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษที่ 1) มีหนังสือที่ มท.0536.2(2)/22162 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2567 ถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งคำสั่งยุติเรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกมาโดยไม่รอการตรวจสอบหาแนวเขตที่ดินให้เสร็จสิ้น

ในขณะที่สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้ทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 31 ต.ค. 2567 ขอให้ดำเนินการตรวจพิกัดตำแหน่งหมุดที่ดินตามแผนที่ และการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหนังสือ ที่ รฟ.1/3221/2567 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2567 ยืนยันรายการปรับปรุงข้อมูลค่าพิกัดตำแหน่งหมุดที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นการขัดแย้งของข้อมูล กับผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ อันเป็นการยืนยันถึงพฤติการณ์ และมีเจตนาที่จะปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่งตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย

แต่ดำเนินการโดยมีเจตนาป้องกัน หรือขัดขวางมิให้มีการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่งตามคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ มีอำนาจหน้าที่เรียกเอกสารสิทธิในที่ดิน ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาพิจารณาเพิกถอนพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบเพื่อให้โอกาสคัดค้าน เมื่อดำเนินการพิจารณาแล้วเสร็จ และส่งให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพิจารณาดำเนินการไปตามนั้น

แต่มีพฤติการณ์ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ และขั้นตอนระเบียบ คำสั่งดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ที่ 1 ถึงที่ 12 ทั้งหมด ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ไม่ดำเนินการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิบริเวณที่ดินรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ทั้งที่ปรากฏในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งคำพิพากษาของศาลที่ได้ถึงที่สุดแล้ว

โดยผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษที่ 1 ถึงที่ 12 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และคำพิพากษาของศาลดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของรัฐ (การรถไฟแห่งประเทศไทย) แต่ไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควร


ด้วยเหตุและผลดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงมีความประสงค์จะขอร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ อธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษที่ 1) ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ตามมาตรา 8 “บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้อธิบดีมีอํานาจหน้าที่ดูแลรักษาและดําเนินการคุ้มครองป้องกัน.....” แต่ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ กับคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (ผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ที่ 2 ถึง 12)

ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่งตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกัน หรือขัดขวางมิให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น โดยไม่ดำเนินการพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิบริเวณที่ดินรถไฟเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 165 อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระบวนการยุติธรรม

ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา 165 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือ คำสั่งตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกัน หรือขัดขวางมิให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น โดยทุจริตที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ข้าพเจ้าในฐานะพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ข้าพเจ้าจึงมาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย จนถึงที่สุด ขอท่านได้โปรดดำเนินการสอบสวน และดำเนินคดี กับผู้ถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษทั้งหมด ตามกฎหมาย ต่อไป

นายสราวุธ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ในการเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษฯในวันนี้ (30 ม.ค.) ผู้แทนของ สร.รฟท.ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนของ บก.ปปป.เพิ่มเติม โดยขั้นตอนหลังจากนี้ บก.ปปป.จะใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ ป.ป.ช. พิจารณาว่า ป.ป.ช. จะรับเรื่องนี้ไว้ดำเนินการเอง หรือจะส่งเรื่องกลับมาให้ บก.ปปป.ดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น