xs
xsm
sm
md
lg

กพท.ห่วงโดรนโตแรง ปี67 จดทะเบียนพุ่งกว่า 1.1 แสนลำ มีเถื่อนอีกเพียบชี้ยังไร้กฎหมายบังคับหวั่นใช้ก่อเหตุร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • การซื้อ ขาย และนำเข้าโดรนยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่มีการลงทะเบียนบังคับ
  • • กพท. กังวลว่าการขาดกฎหมายควบคุมอาจนำไปสู่การนำโดรนไปใช้ในทางที่ผิดและก่อให้เกิดอันตราย
  • • คาดการณ์ว่าจำนวนโดรนในไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 แสนลำในปี 68-69


กพท. ห่วงโดรนโตแรง ”โดรน”เติบโตแรง ปี67 ยอดจดทะเบียน พุ่งจาก จาก8,544 ลำ เป็น 1.1 แสนลำแต่ยังไร้กฎหมายคุมการมี/ครอบครอง ซื้อและนำเข้าได้อิสระ ไม่ลงทะเบียน ไม่มีกฎหมายเอาผิด คาดปี 68-69 มีเพิ่มอีก 2-3 แสนลำ หวั่นนำไปใช้ให้เป็นภัยอันตรายร้ายแรงได้ด้วย

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ (CAAT) เปิดเผยว่า ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา การเติบโตของอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) เพิ่มขึ้นจาก 8,544 ลำ เป็น 111,110 ลำ หรือเพิ่มขึ้นถึง102,566 ลำ ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงมาก และคาดว่าในปี 2568-2569 จะมีเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2-3 แสนลำ โดยเฉพาะโดรนสำหรับถ่ายภาพ ที่เพิ่มขึ้นเร็วมากปัจจุบัน กพท. มีเพียงกฎหมาย การจดทะเบียนโดรน ,ขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยโดรน และการขออนุญาตทำการบินโดรน เท่านั้น เป็นกฎหมายควบคุมการใช้งาน เช่น ห้ามปล่อยโดรนใน รัศมี 9 กม.รอบสนามบิน หรือโดรน น้ำหนักน้อยกว่า 25 กก.ใช้ปฎิบัติการนอกพื้นที่สนามบินไม่ต้องขออนุญาต เป็นต้น

แต่ประเด็นที่ห่วงและยังมีช่องว่าง คือ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการมี ทำให้ตอนนี้ ใครๆ ก็สามารถซื้อ หรือนำเข้ามาโดยอิสระ ซึ่งหากผู้เป็นเจ้าของไม่นำโดรนไปจดทะเบียนจะทำให้รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งคาดว่ายังมีโดรนที่ไม่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบอีกเป็นจำนวนมาก นับแสนลำ ซึ่งเป็นข้อกังวล เพราะโดรนสามารถนำไปใช้งานที่เป็นประโยชน์ แต่ก็สามารถนำไปใช้ในเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้


ผอ.กพท.กล่าวว่า เรื่องการยกระดับกฎหมาย มี 2 แนวคิด คือ ภาคความมั่นคงและพลเรือน ร่วมกันสร้างกฎหมายใหม่ เพื่อดูแล กำหนดเป็นสินค้ายุทธภัณฑ์เป็นต้น หรือ ให้ภาคพลเรือน โดย CAAT ออกกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ยังหารือและบูรณาการความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำเป็นโรดแมปของประเทศด้วย เพราะการมีโดรนผิดกฎหมายจำนวนมากๆ จะเป็นตัวสกัดการพัฒนาประเทศได้

“ดังนั้น หากมองว่า โดรนนำไปใช้ประโยชน์ได้แต่ก็จะเป็นเครื่องมือที่นำไปใช้ให้เป็นภัยอันรายร้ายแรงได้ด้วย ก็ต้องมีการควบคุมการมีและการใช้ ซึ่งต้องมีการยกระดับกฎหมาย เพราะหากอนาคต มีจำนวนโดรนมากๆเป็นล้านตัว จะควบคุมไม่ได้ เพราะไม่จดทะเบียนในระบบ รัฐไม่สามารถติดตามได้”

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า โดรนสามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ หลายวัตถุประสงค์ ขณะนี้มีเพียงกฎหมายโดรนสำหรับการเกษตรซึ่งออกมานานแล้ว เนื่องจากใช้ในพื้นที่ทุ่งนา มีผลกระทบน้อย แต่เมื่อมีการขยายการใช้งานโดรนในกิจกรรมอื่นๆ เช่น โดรนส่งอาหาร โดรนรับส่งผู้โดยสาร โดรนขนส่งสินค้าโดรน ส่งเอกสาร นอกจากดูตามวัตถุประสงค์ ต้องทำประชาพิจารณ์ เพราะมีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากต้องบินเข้าในพื้นที่เมือง มีผลกระทบต่อประชาชน ต้องศึกษาแนวทางที่ไม่ส่งผลกระทบกระทบต่อประชาชนและไม่เกิดภัยต่อสาธารณะ ซึ่งก็ต้องกำหนดเส้นทางการบินของโดรน ว่า ต้องบินห่างจากอาคารเท่าไร เพื่อการใช้งานที่มีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้มีโดรนในครอบครองนำมาจดทะเบียนกับ CAAT ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่ยุ่งยาก ขึ้นทะเบียนผ่านเวปไซด์ได้เลย เพื่อให้อยู่ในระบบตามกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น