- • หักส่วนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ใช้เงินรายได้ดำเนินการ 124.73 ล้านบาท
- • งบประมาณที่เหลือจะเสนอ ครม. อนุมัติสัปดาห์หน้า
- • ยอดผู้โดยสาร 3 วันแรกเพิ่มขึ้นอย่างมาก
- • คาดว่ามาตรการนี้ช่วยลดรถยนต์บนท้องถนนได้ 500,000 คัน และส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการให้ชาวต่างชาติโดยสารฟรี
“สุริยะ” ปรับใหม่ของบกลาง 190.41 ล้านบาทชดเชยมาตรการรถไฟฟ้า-รถเมล์ฟรี ลดฝุ่น PM 2.5 หลังครม.ให้ทำตัวเลขให้ชัด หักส่วน รฟม.ใช้เงินรายได้ดำเนินการ 124.73 ล้านบาท ชง ครม.สัปดาห์หน้า โชว์ยอด 3 วันผู้โดยสารพุ่ง นิวไฮ เคลมคุ้มค่ารถยนต์หายจากถนน 5 แสนคัน/วัน ต่างชาตินั่งฟรีด้วยช่วยส่งเสริมท่องเที่ยว
วันนี้(28 ม.ค.68) ที่กระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบกลาง เพื่อนำเงินไปจ่ายชดเชยให้กับผู้ประกอบการรถไฟฟ้า และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตามมาตรการให้ประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเสนอตัวเลข จำนวน 329.82 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) เป็นผู้เดินรถ รถไฟฟ้าสีเขียว จำนวน 138.4 ล้านบาท ชดเชยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 144.28 ล้านบาท ชดเชย ขสมก.จำนวน 51.7 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณ มีความเห็นว่า หน่วยงานที่มีรายได้ เช่น รฟม. ควรให้ใช้รายได้ของรฟม.ดำเนินการ ไม่ควรใช้งบกลาง จึงให้กระทรวงคมนาคม กลับมาทำตัวเลขใหม่ และนำเสนอครม.ในการประชุมวันอังคารที่ 4 ก.พ.68
โดยล่าสุด แนวทางที่กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอครม. ในส่วนของการชดเชยรายได้จะอยู่ที่ 190.41 ล้านบาท ประกอบด้วย ในส่วนของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) เป็นผู้เดินรถ รถไฟฟ้าสีเขียว จำนวน 133.04 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 4.89 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีทอง ของ กรุงเทพธนาคม จำนวน 0.78 ล้านบาท และรถเมล์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 51.7 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้า MRT ของรฟม. มีวงเงินประมาณ 124.73 ล้านบาทนั้น จะให้รฟม.ใช้เงินหมุนเวียนจากกำไรสะสม เข้ามาชดเชยส่วนดังกล่าว จึงไม่ต้องใช้งบประมาณส่วนกลางแต่อย่างใด มาดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีเงินสะสม ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท จึงไม่เสนอของบกลาง ซึ่งถือเป็นกระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวาของรัฐอยู่แล้ว
ซึ่งมูลค่าดังกล่าวนั้นเป็นการประเมินจากสถิติย้อนหลังตามค่าเฉลี่ย โดยได้หารือกับทาง บีทีเอส และบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) แล้วว่า จะไม่ได้นำจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเข้ามาคำนวณแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ ตัวเลขชดเชยที่ 140 ล้านบาทคำนวนมาจากไหนบ้าง นายสุริยะกล่าวว่าเป็นการประเมินในส่วนของ บีทีเอส อย่างเดียว เพราะทางรฟม. เราจะใช้รายได้รฟม.มาดำเนินการ และยังไม่รวม รถเมล์ เข้าไป จึงต้องทำตัวเลขให้ละเอียดอีกครั้ง
@ต่างชาตินั่งฟรีด้วยช่วยส่งเสริมท่องเที่ยว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อสังเกตุว่า ให้ใช้ฟรีทุกคน ซึ่งคนต่างชาติก็ได้ด้วยเป็นการเงินภาษีของประชาชนไม่เหมาะสมหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ก็ให้ถือว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปก็แล้วกัน ซึ่งคนที่ตั้งประเด็นคงไม่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ เพราะประชาชนที่ได้ประโยชน์ทุกคนชอบกันหมด หลังจากครบ 7 วันจะประเมินผลอีกที ส่วนจะต่อมาตรการอีกหรือไม่ ก็ขอให้รอผลประเมินก่อน
@เคลมผลคุ้มค่า 3 วันแรก รถยนต์หายจากถนน วันละ 5 แสนคัน
พร้อมทั้งยืนยันว่า มาตรการนี้ทำให้ลดปริมาณรถยนต์บนถนนลง ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานข้อมูลจากการเก็บสถิติ จากกล้อง CCTV ของกทม. พบว่า โดยปกติแล้ว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีปริมาณรถยนต์อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคัน โดยจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็น รถยนต์ส่วนบุคคล ประมาณ 5 ล้านคัน ซึ่งภายหลังจากดำเนินการมาตรการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ พบว่า การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดลงประมาณ 10% หรือลดลง 5 แสนคันซึ่งประกอบกับในวันนี้ (28 มกราคม 2568) ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับวันที่ 24 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา หรือก่อนที่จะเริ่มให้ประชาชนได้ใช้บริการรถสาธารณะฟรี
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนระยะกลาง - แผนระยะยาวนั้น จะเร่งดำเนินการส่งเสริมการขนส่งสาธารณะ พร้อมกับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพิจารณาด้านมาตรการการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) โดยการสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน อีกทั้ง ปรับภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนั้น จะจำกัดการใช้รถยนต์เก่า หรือจัดเก็บภาษีรถเก่า และเสริมสร้างแนวความคิดในการบูรณาการสวัสดิการกับนโยบายของแต่ละหน่วยงาน ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะ จะปรับสู่รูปแบบ EV ทั้งหมด เพื่อมุ่งเน้นสร้างเสถียรภาพ และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับภาพรวมปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้าทั้งหมดของเมื่อวานนี้ (27 มกราคม 2568) อยู่ที่ 2,172,345 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 23.65% จากเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 ที่มีผู้ใช้บริการรวม 1,756,772 คน-เที่ยว ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามการให้บริการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณที่มีผู้โดยสารหนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้การบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตรงเวลา และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด
ขณะที่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รายงานข้อมูลถึงสถิติจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรถเมล์ฟรี โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 มีจำนวน 580,287 คน มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 175,974 คน เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเปรียบเทียบกับวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 ขณะที่วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 มีจำนวน 596,662 คน เปรียบเทียบกับวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2568 เพิ่มขึ้น 43.84% สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนให้การตอบรับที่ดี และพร้อมที่จะเข้าร่วมการรณรงค์ในการลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม รถเมล์ทุกคัน ได้ดำเนินการตรวจสภาพรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และตรวจวัดควันดำก่อนนำรถออกให้บริการ เพื่อช่วยลดการเกิดมลภาวะทางอากาศ