- • คาดปี 2568 อุตสาหกรรมการบินไทยจะกลับสู่ระดับปี 2562
- • ปัจจัยที่อาจกระทบการฟื้นตัว คือ ภาวะขาดแคลนเครื่องบิน และนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาอย่างเต็มที่
กพท.เผยอุตฯ การบินปี 67 มีผู้โดยสาร 140 ล้านคน ฟื้นตัว 85% เทียบจากปี 62 ก่อนเกิดโควิด และมี 8.8 แสนเที่ยวบิน คาดปี 68 กลับไปเท่าปี 62 ปัจจัยกระทบ ภาวะขาดแคลนเครื่องบินการผลิตไม่พอความต้องการ และ นทท.จีนยังไม่กลับมา
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ (CAAT) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ที่ผ่านมาว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยมีจำนวนผู้โดยสาร 140 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.12 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีผู้โดยสาร 122 ล้านคน และมีการฟื้นตัวร้อยละ 85.14 เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินในปี 2567 ในภาพรวมมีจำนวนมากถึง 8.8 แสนเที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.90 เมื่อเทียบกับปี 2566 ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการเติบโตมากกว่าปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 101.63 เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีจำนวนมากกว่าปี 2566 ถึงร้อยละ 22.4
ทั้งนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในปี 2568 มีทิศทางในการฟื้นตัวและจะสามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับเดียวกันกับปี 2562 หรือมีผู้โดยสารเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 25 ล้านเที่ยว-คน ซึ่งเดิมคาดว่าปี 2567 อุตฯ การบินจะฟื้นกลับไปเท่ากับปี 2562 แต่เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนยังไม่กลับมา ซึ่งมีหลายปัจจัย รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจของจีน แต่ก็มีผู้โดยสารจากตลาดอินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย และยุโรปเข้ามาเติม
“จากสถิติ ในปี 2562 มีจำนวนผู้โดยสาร 165 ล้านคน (นับรวมเข้าและออก) เป็นผู้โดยสารในประเทศ 76 ล้านคน ระหว่างประเทศ 90 ล้านคน หรือเท่ากับมีผู้โดยสารระหว่างประเทศ 45 ล้านคน กรณีนับว่าผู้โดยสาร 1 คน ต้องเดินทางเข้าและออก เท่ากับเป็น 2 เที่ยว-คน โดยใน 45 ล้านคน เป็นคนจีนถึง 10 ล้านคน ซึ่งปี 2567 ภาพรวมผู้โดยสาร 140 ล้านคน (ในประเทศ 62 ล้านคน เทียบปี 62 ฟื้นตัวร้อยละ 81 ระหว่างประเทศ 77 ล้านคน ฟื้นตัวร้อยละ 87)
@เร่งออกใบอนุญาตสนามบินต่อเนื่อง
ในด้านการออกใบอนุญาต สนามบินทั่วประเทศจำนวน 39 แห่ง ในปี 2567 CAAT ได้ออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี รวมกับก่อนหน้าที่ออกไปแล้ว รวมกับเดิมที่เคยออกไปแล้วเป็น 11 แห่ง ส่วนในปี 2568 คาดว่าจะออกใบรับรองได้อีกประมาณ 6 แห่ง และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี จะออกใบรับรองครบทั้ง 39 แห่ง
ส่วนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน หรือ AOL ในปี 2567 เพิ่ม 3 ราย ได้แก่ บริษัทแอร์ เอเอ็มบี จำกัด, บริษัท บีบีเอ็น แอร์ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทย แอร์โรสเปช อินดันทรีส์ จำกัด
และต่ออายุ AOL 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด, บริษัท ฟลายอิ้ง มีเดีย จำกัด , บริษัท ดรอปโซน (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท สยามยามาฮ่ามอเตอร์โรโบทิคส์ จำกัด, บริษัท ยูไนเต็ด ออฟชอร์ เอวิเอชั่น จำกัด
มีการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือ AOC ให้ 4 ราย ได้แก่ บริษัท พัทยา แอร์เวยส์ จำกัด, บริษัท สยามซีเพลน จำกัด, บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ไทยซีเพลน จำกัด
ทำให้มีสายการบินเข้ามาในตลาดการบินเพิ่มขึ้น แต่สายการบินยังไม่ได้ทำการบินเนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนเครื่องบิน และมีการเพิกถอน AOC สายการบินไทยสมายล์ เนื่องจากการควบรวมกิจการกับการบินไทย
ขณะที่จำนวนอากาศยานที่มีทะเบียนและได้รับใบสำคัญสมควรเดินอากาศสะสมจนถึงปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 656 ลำ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 47 ลำ คิดเป็นร้อยละ 4.46
@วิกฤตขาดแคลนเครื่องบิน ฉุดอุตฯ การบินโต
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ปี 2568 เป้าหมายคาดการณ์อุตสาหกรรมการบินจะกลับไปเท่าปี 2562 แต่ปัจจัยสำคัญคือ จำนวนเครื่องบินที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของสายการบิน ซึ่งการผลิตของแอร์บัสและโบอิ้งไม่สามารถเร่งได้ทันต่อความต้องการ เช่นเครื่อง แอร์บัส A320 สั่งวันนี้ กว่าจะได้รับเครื่องอีก 15 วัน เพราะความสามารถในการผลิตลดลง ดังนั้น หลายสายการบินหันไปใช้วิธีการเช่าใช้ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งเช่าเครื่องเปล่า เช่าเครื่องบินพร้อมลูกเรือ หรือเช่าเครื่องบิน พร้อมลูกเรือและการซ่อมบำรุงและประกันภัย
ที่ผ่านมาช่วงปีใหม่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมลงนามในประกาศผ่อนปรน ตามประกาศกรมการขนส่งทางอากาศ อนุญาตเป็นเวลา 6 เดือนให้สายการบินใช้เครื่องบินเช่าพร้อมลูกเรือ ซึ่งมีสายการบินไทยเวียตเจ็ท เช่าเครื่องบิน A320 จำนวน 2 ลำ ทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เช่าเครื่องบิน ATR จำนวน 2 ลำ ทำการบินเสริมเส้นทางกัมพูชา และ สปป.ลาว
@ คาดปี 79 ไทยขึ้นอันดับที่ 9 ของโลก มีผู้โดยสารมาก
ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมการบินของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 19 ของโลก และมีการคาดการณ์จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ว่าตลาดการบินของไทยมีโอกาสขยายตัวจนขึ้นสู่อันดับที่ 9 ของโลกภายในปี 2576 ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางการบินที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและระดับโลกอย่างชัดเจน ดังนั้นแล้วหน่วยงานด้านการบินจะต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการ การรักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล รวมทั้งต้องเร่งผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาราคาตั๋วเครื่องบิน พบว่ามาตรการการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่สายการบินให้ความร่วมมือ และมีที่นั่งเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ที่นั่งนั้น ทำให้ตั๋วเครื่องบินมีราคาลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและผู้โดยสารเข้าถึงราคาตั๋วเครื่องบินได้มากขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ CAAT ได้หารือร่วมกับสายการบินและผู้ให้บริการทุกหน่วยงานในการเตรียมมาตรการรองรับด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางและได้ราคาตั๋วเครื่องบินที่เหมาะสม