xs
xsm
sm
md
lg

ฟรีวันแรก! ประชาชนแห่ใช้รถไฟฟ้า-รถเมล์คึกคัก “คมนาคม” ยัน 140 ล้านบาทคุ้มหากฝุ่น PM 2.5 ลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • นายสุรพงษ์ ชี้แจงการใช้เงินงบกลาง 140 ล้านบาท ชดเชยค่าใช้จ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมองว่าคุ้มค่าหากค่าฝุ่นลดลง
  • • การประเมินผลจะใช้เวลา 7 วัน
  • • งบประมาณ 140 ล้านบาท เป็นเฉพาะส่วนของกระทรวงคมนาคม ไม่รวมงบประมาณของสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานครดูแล


ประชาชนแห่ใช้รถไฟฟ้า-รถเมล์คึกคัก “สายสีแดง”ยอดพุ่งกว่าปกติ ด้าน”สุรพงษ์” เผยทำได้เร็วและดีที่สุดตอนนี้ แจงควักงบกลาง 140 ล้านบาทชดเชย อย่ามองตัวเลข หากค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงก็คุ้ม รอวัดผล 7 วัน ส่วนงบ140 ล้านบาทเฉพาะ”คมนาคม”ยังไม่รวมสายสีเขียว ที่กทม.ดูแล

วันนี้ (25 ม.ค.2568) เป็นวันแรกที่กระทรวงคมนาคม ประกาศให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้า และรถโดยสารขสมก. ทุกเส้นทางฟรี เพื่อลดการใช้รถยนต์ บรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งบรรยากาศพบว่ามีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้ากันเป็นจำนวนมาก ขณะที่มีการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่ากรณีที่กระทรวงคมนาคม จะของบกลาง จำนวน 140 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดรายได้ให้เอกชน และช่วยลดฝุ่นPM2.5 ได้จริงหรือไม่

เรื่องนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มาตรการให้ใช้บริการรถไฟฟ้า รถเมล์ขสมก.ฟรี ถือว่าดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ในตอนนี้ มาตรการที่ทำได้เร็วที่สุด เพื่อแก้ไขให้ทันท่วงที คือต้องการรณรงค์ ให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้าและรถเมล์ ขสมก.เป็นระยะเวลา 7 วัน จากนั้น ต้องดูสถิติว่า มีประชาชนให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน 

วันนี้ต้องยอมรับว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่ในขั้นวิกฤติ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนโดยสารฟรี เป้าหมายเพื่อลดการใช้รถเครื่องยนต์สันดาป เพื่อลดการปล่อยก๊าซและลดฝุ่นในอากาศ


ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรการนี้จะทำให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์แล้วหันมาใช้รถไฟฟ้า รถเมล์จริงหรือ นายสุรพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลมีช่องทางแล้วว่าช่วยกันรณรงค์ ให้ใช้ประชาชนใช้บริการสาธารณะ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องเปลี่ยนมาตรการ จึงอยากให้ประชาชนร่วมมือหันมาใช้รถขนส่งสาธารณะกันให้มากที่สุด

ส่วนรายได้ของทางเอกชนที่สูญเสียไปนั้น รัฐบาลจะชดเชยเฉลี่ย 7 วัน รวมประมาณ 140 ล้านบาท นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จะใช้งบจากงบกลาง ส่วนสายไหนเท่าไร หน่วยงานไหน จำนวนเท่าไร เป็นเรื่องวิธีการของบประมาณแต่ตัวเลขที่ตั้งไม่ได้ถือว่าสูง ซึ่งวันนี้อย่าเพิ่งไปคิดว่ากี่บาท วันนี้คิดว่า PM 2.5 ลดลงได้อย่างไร และถ้าได้ผล ค่าฝุ่นลดลง ก็ถือว่า คุ้มแล้ว เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มันลง ความคุ้มค่าและตัวชี้วัดอยู่ที่ค่าของ PM 2.5 ที่ลดลงเป็นคณิตศาสตร์ที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาว่า มาตรการฟรีนี้ ได้ผลหรือไม่ และจะทำต่อไปหรือจะต้องเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ เช่น ขยายไปในเรื่องการควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง เรื่องรถบรรทุกขนาดใหญ่ และมาตรการต่อๆไป


@มาตรการนั่งฟรี…ลดฝุ่นPM2.5 ดันสายสีแดงยอดพุ่ง

ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เผยถึงปริมาณผู้โดยสารที่หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสีแดง ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันแรกภายหลังจากกระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการงดจัดเก็บค่าโดยสารการเดินทางในโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง ระหว่างวันที่ 25 - 31 มกราคม 2568 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้มาตรการดังกล่าว

โดย พบว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงในช่วงวันและเวลาเดียวกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีปริมาณผู้โดยสารสายสีแดงรวม จำนวน 11,949 คน แบ่งออกเป็นสายเหนือ 11,300 คน สายตะวันตก 959 คน (ข้อมูลในช่วงเวลา 05.00-13.00 น. )

สำหรับรถไฟฟ้าในสายต่างๆ ทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเหลือง สายสีชมพูและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้นได้ร่วมให้บริการประชาชนฟรี ตามมาตรการของกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5


@ชดเชย 140 ล้านบาท เฉพาะ”คมนาคม”ไม่รวม สายสีเขียว ที่กทม.ดูแล

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า กรอบวงเงินชดเชย 140 ล้านบาทนั้น เป็นการประเมินสำหรับระบบขนส่งสาธารณะภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย รถโดยสาร ขสมก. ซึ่งมีรายได้ประมาณ 9.6 ล้านบาท/วัน รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเหลือง สายสีชมพูและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยวงเงินดังกล่าวไม่ครอบคลุมรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) เป็นผู้เดินรถ




กำลังโหลดความคิดเห็น