- • โรงงานดังกล่าวลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์
- • ผู้ต้องหาถูกตั้งข้อหา 5 ข้อหาหนัก
- • กรมโรงงานฯ สั่งระงับกิจการ 3 บริษัทในพื้นที่เดียวกัน
- • นายเอกนัฏ (ไม่ระบุชื่อเต็ม) ไม่สนใจการถูกตั้งค่าหัว และจะเดินหน้าขยายผลต่อไป
“เอกนัฏ” เมินถูกตั้งค่าหัว เดินหน้าขยายผลการจับกุมโรงงานกำจัดกากอุตฯเถื่อน อ.พนมสารคาม ฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายทำลายของกลาง ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ฟัน 5 ข้อหาหนัก พร้อมสั่งระงับกิจการรวม 3 บริษัทที่ตั้งในพื้นที่เดียวกัน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา (สอจ.ฉะเชิงเทรา) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมกันขยายผลดำเนินคดีกับบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ฐานลักลอบเคลื่อนย้ายและทำลายของกลางที่ถูกยึดอายัดจากบริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. และ สอจ.ปราจีนบุรี แกะรอยจากรถบรรทุกที่ออกจาก บริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด เมื่อวันที่ 5 ม.ค.68 ที่มีการนำของกลางที่ถูกยึดอายัดไปยัง บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยไม่ได้รับอนุญาต
บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่ กรมศุลกากรตรวจพบการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้นำเข้า และเมื่อขยายผลก็พบว่า บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ด้วย โดยบริษัทชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด แบ่งพื้นที่ให้ บริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด เช่าเพื่อตั้งโรงาน โดยไม่ได้ขออนุญาตและแจ้ง สอจ.ฉะเชิงเทรา ทราบ
เมื่อเข้าตรวจค้น บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)ตามมาตรการสุดซอย เบื้องต้นพบการกระทำผิดใน 5 ข้อหา ตั้งแต่ 1.ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต, 2.ตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต, 3.ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต, 4.ฝ่าฝืนกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย และประกาศกระทรวงเกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และ 5.เคลื่อนย้ายหรือทำลายของกลางที่ถูกยึดอายัดไว้ในคดี
นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า บริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีพฤติกรรมกระทำผิดร้ายแรงหลายข้อหา รวมทั้งฝ่าฝืนคำสั่ง มาตรา 37 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน (พ.ร.บ.โรงงาน) ที่ สอจ.ฉะเชิงเทรา สั่งให้ระงับการประกอบกิจการไว้ก่อนหน้านี้ จึงได้ยกระดับออกคำสั่งตามมาตรา 39 และแจ้งความดำเนินคดี รวมถึงข้อหารับซื้อของโจร โดยสามารถจับกุมผู้กระทำผิดสัญชาติจีนได้ 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ดูแลบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และอีกรายเป็นในส่วนของบริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด
“สอจ.ฉะเชิงเทรา ออกคำสั่งตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน ระงับการประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดของบริษัท ชุน ยิป อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท อีอีอี เทรดดิ้ง จำกัด รวมไปถึง บริษัท ตงไท้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งสิ้น 21 ฉบับ “ รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า นายเอกนัฏ ได้เปิดเผยในระหว่างการตอบกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ม.ค.68 ว่า จากนโยบายตรวจจับ และดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการจัดการปัญหากากอุตสาหกรรม ตลอดจนการลักลอบนำเข้าและผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทำให้ถูกตั้งค่าหัว 300 ล้านบาท เพื่อให้เปลี่ยนตัว รมว.อุตสาหกรรม