xs
xsm
sm
md
lg

สื่อทีวี ปี 68 วูบหนัก ช่อง 3 ปักธงซีรีส์ GL ช่อง 7 ปลดล็อกช่องทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - สถานการณ์มูลค่าสื่อทีวีลดลงต่อเนื่อง ซึ่งปี2567 คาดว่าจะจบที่ 32,500 ล้านบาท ส่วนในปี 2568 คาดว่าร่วงอีกเหลือ 30,225 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งไม่ถึง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาไปแล้ว เจอแบบนี้ทีวีจะไปต่อกันแบบไหน งานนี้มีปาดเหงื่อปรับแผนรับมือต่อเนื่อง ปีที่แล้วช่อง 3 ปรับลดพนักงานลงอีก 300 คน แม้ผลประกอบการจะมีกำไร ส่งผลให้ผู้จัดหลายรายหันซบช่องโมโน 29 ตามพี่ใหญ่ “แดง- ธัญญา” “อ็อฟ-พงษ์พัฒน์” เพราะทางโมโนเองก็มุ่งผลิตคอนเท้นท์อุดรอยรั่วที่ไม่มีหนังดังหนังใหม่ค่ายฮอลีวู้ดลงจอ ทางย่านอโศกกับช่อง One เน้นละครสั้น 10 ตอน และสร้างกระแสในโซเชียลดึงคนดูและโฆษณา เปิดวิกช่อง 7 ชูละคร คอนเท้นท์ใหม่ และเพิ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นแม่เหล็กดูดคนดูและรายได้ใหม่ๆ


ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับจากปี 2563-2567 อุตสาหกรรมโฆษณากลับมาเติบโตต่อเนื่อง จากปี 2563 มีมูลค่า 75,168 ล้านบาท ถึงปี 2567 คาดปิดที่ 86,989 ล้านบาท โตจากปีก่อนหน้า 2.6%
แม้ดูแล้วใจชื้นขึ้น แต่หากมองในมุมของสื่อโฆษณาโดยเฉพาะสื่อทีวี กลับมีมูลค่าลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2567 สื่อทีวีมีมูลค่า 32,500 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าทำไว้ 35,364 ล้านบาท หรือในปี 2567 สื่อทีวีหล่นมาอยู่อันดับ 2 เป็นครั้งแรก และมีสื่ออินเทอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทน ด้วยมูลค่า 33,859 ล้านบาท

*** สื่อทีวีปี 68 วูบหนัก สื่ออินเทอร์เน็ตผงาด
ขณะที่ในปี 2568 นี้ คาดการณ์ว่า สื่อทีวีจะมีมูลค่าลดลงอีกที่ 30,225 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 30% ของภาพรวม สวนทางกับอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก 4-5% หรือน่าจะมีมูลค่ารวมที่ 90,879 ล้านบาท
โดยสื่อโฆษณาที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1. สื่ออินเทอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์ 38,938 ล้านบาท, 2. สื่อทีวี 30,225 ล้านบาท และ 3.สื่อ Out of Home 15,015 ล้านบาท

ทั้งนี้ทาง MI GROUP คาดการณ์ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในปี 2568 ว่า จะอยู่ที่ 90,879 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.5% จากปี 2567 มาจากปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังต้องเฝ้าติดตาม
โดยสื่อที่ยังเติบโต คือ สื่อออนไลน์และสื่อนอกบ้าน รวมถึงฝั่งอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเม็ดเงินหลักที่ใช้บนแพลตฟอร์ม Meta, Youtube และ TikTok ตามลำดับ ขณะที่สื่อดั้งเดิม อย่าง สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุ มีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่อง


นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI GROUP เปิดเผยว่า เดิมช่วงต้นปี 2567 ทาง MI GROUP คาดการณ์ว่าจบปี 2567 อุตสาหกรรมโฆษณาจะโต 4% หรือจบที่ 88,000 ล้านบาท แต่จากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ดีขึ้น ทำให้จบปี 2567 นี้ อุตสาหกรรมโฆษณาจะเติบโตได้เพียง 2.6% คิดเป็นมูลค่ารวมที่ 86,989 ล้านบาท โดยสื่อทีวียังเป็นสื่อที่มีมูลค่าลดลงต่อเนื่อง จากปี 2566 มีมูลค่า 35,364 ล้านบาท จบปี 2567 คาดว่าจะลดลงมาอีก 7% หรือมีมูลค่าที่ 32,500 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มในปี 2568 ยังคงลดลงต่อเนื่องอีก 6% หรือน่าจะมีมูลค่าที่ 30,225 ล้านบาท

”สื่อทีวี ยังถือเป็นสื่อหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโฆษณา ดังนั้นหากสื่อทีวีเติบโตลดลง ก็จะส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา แม้ว่าแนวโน้มยังเติบโตแต่เป็นการเติบโตลดลงเช่นกัน ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้สื่อทีวีมีมูลค่าลดลงนั้น มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไป มีสิ่งจูงใจหรือมีกิจกรรมอื่นๆ มาทำให้เวลาในการดูทีวีลดลง ตัวเลือกหรือช่องทางในการรับชมคอนเท้นท์มีหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ สตรีมมิ่ง โซเชียลมีเดีย รวมถึงคอนเท้นท์ในทีวีที่ไม่ตอบโจทย์ ไม่โดนใจ เป็นต้น ดังนั้นการปรับตัวของสื่อทีวียังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง“

นายภวัต กล่าวต่อว่า ในปี 2568 การปรับตัวของสื่อทีวียังมีให้เห็นต่อเนื่อง หลังจากปี 2567 ที่ช่อง 3 ได้ปรับลดพนักงานลงสวนทางกับรายได้ที่มีกำไร แต่ก็เป็นการปรับตัวเพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ในอนาคต รวมถึงการปรับตัวของผู้จัดละครช่อง 3 ที่หันมาร่วมงานกับทางช่องโมโน 29 เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายของทางช่องโมโน 29 ที่ต้องการเพิ่มคอนเท้นท์อื่นๆ มาทดแทนคอนเท้นท์หนังดังฮอลลีวู้ดที่หายไป ซึ่งเห็นภาพชัดเจนตั้งแต่มีการแต่งตั้ง แดง -ธัญญา วชิรบรรจง มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตรายการ บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการปรับตัวของทางช่อง One ที่หันมาใช้กลยุทธ์ละครสั้น 10 ตอนจบ พร้อมกับการสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มเรตติ้งและเพิ่มรายได้เข้ามามากขึ้น ทดแทนรายได้จากสื่อทีวีที่หายไปนั่นเอง


ละคร ยังคงเป็นคอนเท้นท์หลักของสื่อทีวี ที่ทำรายได้ให้ทางสถานีโทรทัศน์มากที่สุด ซึ่งปี 2567 ที่ผ่านมา แม้จะเห็นละครรีรันมากกว่าละครใหม่ ส่วนสำคัญเป็นเรื่องของต้นทุน ไม่ได้การันตีหรือหมายความว่าละครรีรันจะทำรายได้จากโฆษณามากกว่าหรือน้อยกว่าละครใหม่ แม้ละครเรื่องนั้นจะเคยออกอากาศครั้งแรกแล้วมีเรตติ้งดีมากก็ตาม แต่เป็นเรื่องของการบริหารต้นทุนเป็นหลักมากกว่า
“ดังนั้นในปี 2568 มองว่าภาพรวมของจำนวนละครใหม่ๆ จะมีการลงทุนและผลิตน้อยลงไปอีก จากรายได้โฆษณาที่มีแนวโน้มลดลงนั้นเอง แม้เรตราคาโฆษณาทางสื่อทีวีจะไม่มีการปรับราคาลงก็ตาม แต่หลังบ้านก็ยังมีเรื่องลด แลก แจก แถม เข้ามาเป็นตัวแปร ส่งผลให้รายได้จากโฆษณาลดลง” นายภวัต กล่าว

**ช่อง3 ชูซีรีส์ GL ดึงผู้ชม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สื่อทีวีมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปี 2567 ที่ผ่านมา แต่ละช่องว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่อง 3 ที่ในปี 2567 โฟกัสช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น รายได้จากภาพยนตร์ หวังเป็นขาทองคำสร้างรายได้หลักในอนาคต โดยจับมือกับทางเอ็มสตูดิโอ ทุ่มงบร่วม 100 ล้านบาท ลุยหนังไทย 2 เรื่อง คือ มานะแมน และธี่หยด 2 ซึ่งธี่หยด 2 นี้ ทำรายได้ทะลุ 700 ล้านบาทไปแล้ว และในปี 2568 พร้อมลุยต่อกับ ธี่หยด 3 ส่วนมานะแมน แม้จะพลาดเป้าก็ไม่เป็นไร เพราะธี่หยด 2 ช่วยไว้ได้เยอะ


“ช่อง 3 มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้นำทางด้าน Entertainment Platform ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ภายใต้กลยุทธ์ Single Content Multiple Platform ที่สามารถเดินทางไปได้หลายๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงคอนเท้นต์ภาพยนตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทางช่อง 3 ให้ความสำคัญ ซึ่งปี 2567 ได้จับมือกับเอ็มสตูดิโอ ในรูปแบบกิจการร่วมค้า ด้วยงบลงทุนร่วม 100 ล้านบาท ผลิตภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ มานะแมน และธี่หยด 2 โดยเฉพาะธี่หยด 2 น่าจะประสบความสำเร็จเช่นภาคแรก และมีแผนที่จะทำเป็นแฟรนไชส์ภาคต่อๆ ไป ในอนาคตด้วย ซึ่งคอนเท้นต์ภาพยนตร์นี้ทางช่อง 3 คาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะกลายมาเป็นรายได้หลักได้ในอนาคต” นางสาวเทรซี แอนน์ มาลีนนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่ม บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ช่อง 3 ได้กล่าวไว้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคอนเท้นท์ละคร ช่อง 3 ยังคงให้ความสำคัญอยู่ ซึ่งในปี 2567 ประสบความสำเร็จอย่างมากกับละครยูริ/ GL (Girls Love) หรือซีรีส์แนวแซฟฟิก เรื่อง “ใจซ่อนรัก” ทำให้เกิดคู่จิ้นหญิงหญิง อย่าง “หลิงหลิง-ศิริลักษ์ คอง” และ “ออม-กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์” โด่งดังขึ้นในชั่วพริบตา กระแสดังกล่าวนำมาซึ่งรายได้ใหม่ๆ ให้ช่อง 3 อย่างรายได้จากการจัดอีเว้นท์ การจัดมีตติ้งของ 2 นักแสดง และอื่นๆ ตามมา และจากกระแสซีรีส์แซฟฟิกนี้เอง ส่งผลให้ในปี 2568 ช่อง 3 จะนำเสนอต่อเนื่อง


“ช่อง 3 ยังเดินหน้าพัฒนา และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2567 ถือเป็นความท้าทายของช่อง 3 ที่ก้าวกระโดดเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ละคร ขยายการผลิตคอนเทนต์ไปยังตลาดซีรีส์ Girls Love หรือ แซฟฟิก และ Boys Love เพื่อเพิ่มความหลากหลาย และเพิ่มฐานผู้ชมให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น เพราะตลาดนี้ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่สามารถสร้างการพูดถึง สร้างกระแสตอบรับในวงกว้าง ทั้งในไทยและในระดับ Global เริ่มต้นด้วยซีรีส์แซฟฟิกที่ครองใจผู้ชมทั้งในไทยและทั่วโลกอย่าง “ใจซ่อนรัก” ส่วนหนึ่งจากการให้สัมภาษณ์ จากนางสาวปิ่นกมล มาลีนนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่ม บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ช่อง 3

นางสาวปิ่นกมล กล่าวต่อว่า การเติบโตของคอนเทนต์ GL (Girls Love) ในเมืองไทยตอนนี้กระแสมาแรงมาก มีซีรีส์ถูกผลิตขึ้นมากมาย ทำให้มีกระแสชื่นชมในตัวซีรีส์และนักแสดงเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย เห็นได้จากความนิยมในตัวนักแสดงจากทางต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เชื่อว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อไปอีกมาก แต่ก็ต้องแข่งขันกันทางด้านคุณภาพของโปรดักชั่นและการเล่าเรื่องมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“สำหรับช่อง 3 มั่นใจในศักยภาพที่จะต่อยอดธุรกิจจากคอนเทนต์ GL ด้วยจุดเด่นที่เรามีมาตลอด คือ โครงเรื่อง บวกกับความสามารถของนักแสดงที่เหมาะสมกับบทบาท ความแข็งแรงของความเป็นช่อง 3 ที่มีฐานคนดูกลุ่มแมส และแน่นอนเรามีทรัพยากรบุคคลที่มีความพร้อมในการผลิต รวมไปถึงความสามารถทางการแสดงของนักแสดงในสังกัด”
สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของการทำคอนเทนต์ GL นั้น จะต้องเป็นซีรีส์ที่คนดูทุกกลุ่มรับชมได้ ในทุกรูปแบบของความรัก ถือเป็นความท้าทายในการนำเสนอคอนเทนต์ GL ให้คนดูทุกกลุ่มสามารถดูได้ และไม่ใช่แค่ชื่นชอบในตัวซีรีส์เท่านั้น แต่นำไปสู่ความรักความนิยมให้กับตัวศิลปินนักแสดงด้วย ทั้งหมดอยู่ที่การดำเนินเรื่อง การวางโครงเรื่องให้เข้มข้นทุกตอน และการแสดงที่สมบทบาท รวมไปถึงการวางแผนโปรโมทที่ดี และแน่นอนว่าต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างเช่นกัน


*** เปิดโผละคร 16 เรื่องเด็ดของช่อง 3
โดยในปี 2568 ทางช่อง 3 ได้เปิดโผรายชื่อละครใหม่ออกมาแล้วรวม 16 เรื่อง คือ 1.แม่เลี้ยง 2.คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ 3.เจ้าคุณพี่กับอีนางคำดวง 4.ใจขังเจ้า 5.สายรักสายเลือด 6.โทษฐานที่รักเธอ 7.เมื่อตะวันลับฟ้า (ก็จะเป็นเวลาของดวงดาว) 8.แสนรัก 9.นับ 8 และ10.เกมส์โกงเกมส์ 11.เพลงพยัคฆ์ 12.สามสาวโคกอีแร้ง 13.ยัยปลาไหลกับนายไฮโซ 14.ผู้บ่าวสุดซ่าส์กะอีหล่าขาซิ่ง 15.แผนรักหักคานลุง และ16. เพียงเธอ Only You ซึ่งเป็นซีรีส์แซฟฟิก ที่จะพาด้อม “เจ้าความรัก” ไปฟินกันต่ออีกครั้งกับคู่จิ้น “หลิง- ออม”

ทั้งนี้พบว่าจากจำนวนละครที่จะออนแอร์ทางช่อง 3 เหล่านี้ มีผู้จัดละครบางเรื่องที่ได้มาร่วมงานกับทางช่องโมโน 29 ด้วย ซึ่งทางช่อง 3 ไม่ได้ปิดกั้นและพร้อมร่วมงานกับผู้จัดละครเหล่านี้ต่อไป เพราะเข้าใจได้ว่าในสถานการณ์ที่ช่องทีวีเองต้องปรับตัว ผู้จัดละครเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน
นอกจากการปรับตัวในเรื่องการผลิตละครแล้ว ปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ทางช่อง 3 ยังมีการปรับโครงสร้างองค์กรอีกด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา โดยครั้งที่ 4 นี้ เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา กับข่าวใหญ่ที่ช่อง 3 มีนโยบายลดพนักงานลงอีกเกือบ 300 คน หวังปรับลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 30% เพื่อให้องค์กรสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งการชดเชยที่ทางช่อง 3 จะจ่ายให้พนักงานนั้น เบื้องต้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด


*** ช่อง 7 ปลดล็อกช่องทางชม
กดรีโมทมาที่ช่อง 7 กันบ้าง เพราะเป็นอีกช่องที่แบกรับกับสถานการณ์รายได้โฆษณาที่ลดลง และถือเป็นช่องหลักที่เจอผลกระทบมากสุด โดยตลอดปี 2567 เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผังรายการ และการออกอากาศละครของช่อง 7 อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงมีการนำเสนอละครรีรันมากกว่าละครใหม่

ล่าสุดช่วงปลายเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ช่อง7 นำทีมโดยนายพัฒนพงค์ หนูพันธ์ กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายธุรกิจโฆษณา, ผู้บริหารฝ่ายผลิตรายการละคร, ผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์กร และบริหารนักแสดง ผู้บริหารฝ่ายผลิตรายการ และผู้บริหารบีบีทีวี นิว มีเดีย งานด้านออนไลน์ ได้ทำการเปิดบ้านนัดพบปะผู้ผลิตละครและเหล่านักแสดง เพื่อพูดคุยถึงทิศทางการทำงานในปี 2568 ซึ่งถือเป็นปีที่ช่อง 7 มีการขยับตัวครั้งใหญ่ โดยจะมีผลงานคุณภาพ คอนเทนต์หลากหลาย กับความใหม่ ทั้งละคร ซีรีส์ รายการ ที่ขนมาให้ชมกันตลอดปี
ที่สำคัญในปี 2568 ถือเป็นปีแรกที่ช่อง 7 ได้ปลดล็อกการรับชมคอนเท้นท์ออนไลน์ของทางช่องมากขึ้น จากที่รับชมได้เพียงทาง bugaboo.tv เท่านั้น โดยได้เริ่มคิกออฟชิมลางไปบ้างแล้วตั้งแต่เดือนต.ค. 2567ที่ผ่านมา กับละครบางเรื่องทาง iQIYI และ NETFLIX ซึ่งในปี 2568 นี้ เชื่อว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของจำนวนละคร คอนเท้นท์อื่นๆ และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่จะคนดูจะสามารถดูละครช่อง 7 ได้หลากหลายมากขึ้น.












กำลังโหลดความคิดเห็น