- • เพิ่มอำนาจ กทท. ให้ลงทุนหรือร่วมทุนกับบุคคลอื่น
- • กทท. สามารถถือหุ้นในบริษัทจำกัด จัดตั้งบริษัทใหม่ได้
- • กทท. สามารถเช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้
- • รองรับการขยายธุรกิจและการลงทุนในอนาคต (รวมถึงพื้นที่เป้าหมายสำหรับ Entertainment Complex)
ครม.อนุมัติร่างพ.ร.บ.การท่าเรือฯฉบับใหม่ พิ่มเติมให้ กทท.ลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด,จัดตั้งบริษัท ,เช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามความจำเป็น รองรับอนาคตและยกเลิกคำว่า “ผู้อำนวยการ” ใช้ “ผู้ว่าการ” จับตา พื้นที่เป้าหมายเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี วันที่ 21 ม.ค.2568 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาด้วยแล้ว จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างข้อบังคับ จำนวน 3 ฉบับ และร่างระเบียบ จำนวน 3 ฉบับ
โดยมีสาระสำคัญสรุปได้แก่ 1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม (ร่างมาตรา 3)คำว่า “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจอื่น (เดิม “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการของการท่าเรือ แห่งประเทศไทย)ยกเลิกคำว่า “ผู้อำนวยการ” ในพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และแก้ไขเป็นคำว่า “ผู้ว่าการ” ทุกแห่งเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่ตำแหน่ง
2. แก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมาย (ร่างมาตรา 7) โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (เดิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) เนื่องจากการดำเนินกิจการของ กทท. อยู่ในการกำกับดูแลของ กระทรวงคมนาคม ส่วนกระทรวงการคลังได้เปลี่ยนไปกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในภาพรวมผ่านทางกลไกสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
3. แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ กทท. โดยขยายวัตถุประสงค์ (ร่างมาตรา 8 (3) จากเดิม “ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ” เป็นให้ “ดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการประกอบกิจการท่าเรือเพื่อประโยชน์แก่ กทท.” (เป็นการปรับปรุงถ้อยคำให้สอดคล้องกับบริบทและตรงตามอำนาจของ กทท. เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจของ กทท. ซึ่งจะทำให้สามารถประกอบกิจการท่าเรือ ธุรกิจเกี่ยวกับท่าเรือ อู่เรือ และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นส่วนประกอบกับท่าเรือ รองรับการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. ได้)
4. ให้ กทท. มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของ กทท. โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้รวมถึงอำนาจกระทำกิจการดังต่อไปนี้ (ร่างมาตรา 9)
เช่น 1.เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีทรัพยสิทธิ หรือเป็นการก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้
2.กำหนดให้ กทท. มีเฉพาะอำนาจเรียกเก็บค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ (เดิม ให้ กทท. มีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และออกระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าภาระดังกล่าว เนื่องจากคณะกรรมการฯ จะเป็นผู้มีอำนาจกำหนดอัตราค่าภาระดังกล่าวภายในอัตราขั้นสูงและขั้นต่ำที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 29 (5) แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือฯ มีใช่ กทท.)
3. กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการใช้ท่าเรือ การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ รวมทั้ง การจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาณาบริเวณ (เพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงการจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เดิม กำหนดเพียงการจัดระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย การใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ)
4.เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถออกพันธบัตรหรือตราสารเพื่อใช้ในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของ กทท. ได้ ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการทำกิจการในบางกรณีอาจมิใช่การลงทุน (ได้ปรับถ้อยคำเพิ่มเติม จาก เดิม ออกพันธบัตรหรือตราสารอื่นใด เพื่อการลงทุนเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินกิจการของการทำเรือฯ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สามารถรองรับการประกอบธุรกิจตามกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ และรองรับการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community)
5.เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งในราชอาณาจักรจะมีคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้นไม่ได้ (เพิ่มเติมถ้อยคำ “ทั้งในและนอกราชอาณาจักร” เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น จะได้ไม่ต้องมีการตีความ จากเดิม ให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด)
6.เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (เดิม กทท. สามารถเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเพิ่มเติมถ้อยคำ “ทั้งในและนอกราชอาณาจักร” เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น จะได้ไม่ต้องมีการตีความ)
7.เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถเช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ มีการกำหนด กลยุทธ์ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community ที่ต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้ (เดิม ไม่กำหนด)
8.เพิ่มเติมให้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ของ กทท. ให้ กทท. จัดทำแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินการ โดยแสดงถึงเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ (ร่างมาตรา 27)
9.เพิ่มเติมให้ กทท. สามารถกระทำการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการรองรับการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กทท. ที่อาจมีเพิ่มเติมได้ในอนาคต (เดิม ไม่ได้กำหนด)