- • ส.อ.ท. เร่งหาตลาดใหม่และมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำ
- • ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค. 67 ลดลงเหลือ 90.1
ส.อ.ท.เร่งภาครัฐจัดตั้ง War Room เตรียมพร้อมรับมือนโยบายการค้าจากทรัมป์ 2.0 พร้อมเร่งหาตลาดใหม่เพื่อช่วยการส่งออก และหามาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เผยดัชนีเชื่อมั่นฯ ธ.ค. 67 ลดลงอยู่ที่ 90.1 ปรับตัวลงจาก 91.4 ใน พ.ย. 67
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการยังกังวลผลกระทบจากต้นทุนแรงงานโดยเฉพาะ SMEs จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.9) แต่มีบางจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่สูงไม่ว่าจะเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี และภูเก็ต จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาช่วยเหลือ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ตามนโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ในวันที่ 20 มกราคมนี้
เบื้องต้นคาดว่าแทบทุกอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกำแพงภาษีที่จะเก็บเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ราว 10-20% โดยประเทศไทยคาดว่าจะได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ลำดับ 9 ในปี 2567 จากเดิมที่อยู่ลำดับ 11 เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าต่างๆ ไปตลาดสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นจึงเสนอภาครัฐจัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ได้ทันท่วงที ทำให้ภาคเอกชนปรับตัวได้รวดเร็วช่วยลดผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยและรับมือกับผลกระทบทางอ้อม รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดกับสหรัฐฯ รวมทั้งหาตลาดใหม่เพื่อกระจายสินค้าส่งออก โดยเลียนแบบจีนที่ถูกกีดกันการค้าจากนโยบายทรัมป์ 1 ทางจีนก็หาตลาดใหม่ทดแทนทำให้ปัจจุบันจีนลดการส่งออกสินค้าไปจากตลาดสหรัฐฯ จากเดิม 26-27% ของมูลค่าการส่งออก เหลือเพียง 20% ในปี 2566-67 โดยตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นตลาดใหญ่ที่จีนหันมาส่งออกเพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งแนวโน้มการเจรจาต่อรองการค้าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบทวิภาคีมากกว่าพหุภาคี จำเป็นที่ภาครัฐต้องหาล็อบบี้ยีสต์เพื่อช่วยในการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน
อย่างไรก็ดี ในปีนี้คาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดหากไม่มีการตั้งรับที่ดีทั้งการส่งออก
ดังนั้น ภาครัฐต้องเร่งขยายผลความสำเร็จจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-EFTA ไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายโอกาสเพิ่มแต้มต่อทางการค้าและการส่งออกเพิ่มขึ้นช่วยบรรเทาผลกระทบจากการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐฯ
รวมทั้งภาครัฐเร่งออกมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 90.1 ปรับตัวลดลงจาก 91.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง จากการเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย และมีวันหยุดต่อเนื่องเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมและสภาพอากาศแปรปรวนในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ต้นทุนราคาวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำท่วมภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อีกทั้งอุปสงค์ในประเทศชะลอลง สะท้อนจากยอดขายสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2567 หดตัว 31.34% มาจากสถาบันการเงินยังระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างหดตัวลงจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ขณะที่กลุ่มพลังงาน ชะลอลงตามค่ำสั่งซื้อและกำลังซื้อในประเทศที่ลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และการแข่งขันที่รุนแรงจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาแย่ง
ส่วนแบ่งตลาดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมยังมีปัจจัยบวกจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น รวมถึงผลจากการจัดทำ FTA ไทย-EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) ได้สำเร็จ ขณะที่ผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิ์ FTA ในช่วงมกราคม-กันยายน 2567 คิดเป็น 85.58% ขึ้น 2.11%YoY ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ประกอบกับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และอยู่ในช่วงขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งการท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจาก 96.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังห่วงคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา
ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาจากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 1/2568 และแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2568 คาดการณ์ยังทรงตัวจากฐานต่ำปี 2567 ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก