xs
xsm
sm
md
lg

เช็ก! 4 ข้อได้เปรียบและโอกาสรุ่งของอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในอินเดีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้แสงอาทิตย์ไปผลิตพลังงานไฟฟ้า นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟสำหรับใช้ในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพราะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านได้แล้ว ยังถือเป็นพลังงานสะอาดที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย เพราะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนั้น แสงอาทิตย์ยังเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมด และจากการเล็งเห็นข้อดีของพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันจึงมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก จนกระทั่งกลายเป็นเทคโนโลยีพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุด


ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศจีน มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศ ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในอวกาศแล้วส่งกลับมายังโลก โดยอยู่ในการทดสอบระบบตรวจสอบภาคพื้นดิน และจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2028

ส่วนที่ญี่ปุ่น ล่าสุดได้ออกระเบียบใหม่กำหนดให้บ้านในโตเกียวทุกหลังที่สร้างใหม่หลังเดือนเมษายน ปี 2025 จะต้องติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในครัวเรือน


ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีการส่งเสริมนโยบายช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแผงโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้น เช่น เมือง Lancaster รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่กำหนดให้ผู้สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ทุกหลังต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยถือเป็นเมืองนำร่องการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง

ทางฝั่งเยอรมนี ก็ได้มีการอนุมัติร่างกฎหมายส่งเสริมการขยายการผลิตพลังงานหมุนเวียนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี โดยลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้สามารถก่อสร้างได้เร็วขึ้น


สำหรับประเทศไทยของเราก็ให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างพลังงานสะอาดสู่โลกมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้ ที่น่าจับตามองมากที่สุดก็คือ “ประเทศอินเดีย” ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดของประเทศสู่ที่หนึ่งของโลกด้วยนิยาม “One Sun One World One Grid” และ “World Solar Bank” หรือพระอาทิตย์หนึ่งดวง โลกหนึ่งใบ หนึ่งกริด และธนาคารโซลาร์โลก


นั่นทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกสนใจโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้ง 4 ด้านซึ่งถือว่าเป็น “ข้อได้เปรียบ” ที่สร้างโอกาสให้กับธุรกิจพลังงานสะอาดสามารถเติบโตพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต โดยทั้ง 4 ด้านนั้น ประกอบด้วย

1. ฐานประชากรขนาดใหญ่ : โดยอินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกในจำนวนถึง 1.3 พันล้านคน เป็นรองก็เพียงแค่จีนเท่านั้น

2. เศรษฐกิจดี : เศรษฐกิจอินเดียปัจจุบันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก และจากพัฒนาการในหลาย ๆ ด้านทำให้เศรษฐกิจอินเดีย พร้อมขยับอันดับขึ้นไปอีกในเร็ว ๆ นี้

3. กลุ่มวัยทำงานขนาดใหญ่ : ประชากรหนุ่มสาวของอินเดีย ที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน มีจำนวนมากถึงเกือบ 300 ล้านคน (อายุเฉลี่ยของชาวอินเดียอยู่ที่ 28 ปี) ด้วยกำลังซื้อ และการจับจ่ายของคนกลุ่มนี้ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอินเดียเลยทีเดียว

4. ความได้เปรียบด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ : เพราะอินเดียตั้งอยู่ในเขตร้อน มีแดดจัดมากถึง 300 วันต่อปี ซึ่งเหมาะที่สุดสำหรับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากได้รับแสงแดดโดยตรง


แน่นอนว่า นอกเหนือจากทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมา ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เอื้อให้อุตสาหกรรมพลังงานของอินเดียยังเติบโตได้อีกมาก หนึ่งในนั้นก็คือ อินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและสหรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานทดแทนสูงสุดเป็นอันดับ 4 โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่นับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่พัฒนาเร็วที่สุดในอินเดีย

และที่สำคัญ รัฐบาลอินเดียได้มีการเสนอเครดิตภาษีให้กับผู้ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ทั้งการอยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ เช่นเดียวกับเรื่องของต้นทุนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย ก็เป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบเช่นกัน

ทั้งนี้ ด้วยการผลักดันของนโยบายรัฐ อินเดียกำลังก้าวสู่เส้นทางพลังงานสะอาดเต็มตัว กับเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานทดแทนในระดับ 500 กิโลวัตต์ ภายในปี 2030 พร้อมเดินหน้าผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หมายถึงโอกาสในการเติบโตได้อีกมหาศาลในอุตสาหกรรมนี้ที่ดึงดูดความสนใจนักลงทุนจากทั่วโลกให้มุ่งหน้าสู่แดนภารตะอย่างไม่ขาดสาย
กำลังโหลดความคิดเห็น